“พิชัย” บินวอชิงตัน รุกเจรจา สว.-สส. เจ้าหน้าที่ระดับสูง ภาคเอกชนสหรัฐ กระชับสัมพันธ์ทางการค้า เดินหน้าดึงดูดการลงทุน เป็นฐานการผลิตสำคัญของภูมิภาค

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังนำคณะผู้แทนไทยเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเข้าร่วมงาน National Prayer Breakfast 2025 ที่โรงแรม The Washington Hilton ที่เป็นงานสำคัญที่มีผู้นำระดับสูง รวมถึงมี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เข้าร่วม และยังได้เข้าเจรจาหารือกับสมาชิกสภาคองเกรส เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ และภาคเอกชนชั้นนำจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการค้าและดึงดูดการลงทุน อันเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

นายพิชัย ระบุว่า ในการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ตนได้เข้าร่วมงาน National Prayer Breakfast 2025 ที่มี นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานในการกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน และถือเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนนโยบายด้านเศรษฐกิจกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เช่น สมาชิกสภาคองเกรส รัฐมนตรี ภาคเอกชน และผู้นำจากนานาชาติ

นอกจากนั้น ยังได้เข้าพบสมาชิกสภาคองเกรสและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ อาทิ สส. Robert Aderholt สส. Tracey Mann สว. Mike Lee สว. Tammy Duckworth และ สว. Pete Ricketts แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์วุฒิสภา และ สส. Adrian Smith ประธานคณะอนุกรรมการด้านการค้าภายใต้คณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ (House Ways and Means) เพื่อย้ำสถานะของไทยในฐานะพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก พร้อมชูจุดแข็งของไทยที่เอื้อต่อการค้า-ลงทุน อาทิ ความสำเร็จล่าสุดในการจัดทำ FTA ไทย-เอฟตา และที่ยังอยู่ระหว่างเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ และแคนาดา ซึ่งจะช่วยเป็นแต้มต่อเพิ่มขีดความสามารถของไทยในตลาดโลกได้อย่างมากในอนาคต รวมไปถึงไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรม Data Center และ AI ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น Google Microsoft และ Amazon เข้ามาลงทุนต่อเนื่อง

...

โดยตนยังได้ผลักดันให้สหรัฐฯ สนับสนุนให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของอเมริกา ทั้งในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และ PCB รวมถึงภาคความมั่นคง เช่น การเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพ (medical hub) ในภูมิภาค และขอแรงสนับสนุนจากระดับนโยบายของสหรัฐฯ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ตนยังได้มีโอกาสหารือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ผ่านสภาหอการค้าสหรัฐฯ (USCC) และสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ (USABC) ซึ่งมีบริษัทชั้นนำเข้าร่วมกว่า 26 บริษัท ได้แก่ Nasdaq, FedEx, The Asia Group, PepsiCo, IBM, Mars, Citi, Organin, Intel, Vriens & Partners, ConocoPhillips, Caterpillar, Seagate, Tyson Food, Apple, DGA-Albright, Stonebridge Group, BowerGroupAsia, S&P Global, Visa, Boeing, Dow, Cargill, 3M และ Viatris เข้าร่วมด้วย

ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสการค้าการลงทุน สนับสนุนให้นักลงทุนจากทั่วโลกให้มาตั้งการผลิตในไทย ทำให้ปี 2567 ที่ผ่านมา มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนปี 2567 กว่า 1.13 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี และการส่งออกโตปี 2567 ก็โตถึง 5.4% มูลค่ากว่า 10.5 ล้านล้านบาท อีกทั้งยังมีข้อตกลง Treaty of Amity ที่ให้สิทธิพิเศษแก่ธุรกิจสหรัฐฯ สามารถถือหุ้น 100% ในไทย ซึ่งเป็นสิทธิที่ไทยไม่เคยให้ประเทศอื่น

ทั้งนี้ จากการหารือกับภาคเอกชนของสหรัฐฯ มุมมองต่อไทยยังเป็นบวก โดยเห็นว่าไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญ และเป็นฐานการผลิตที่ดีในภูมิภาค ซึ่งตนยังได้เชิญชวนบริษัทสหรัฐฯ ให้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เวชภัณฑ์ พลังงาน ดิจิทัล และเกษตรอาหาร และกระทรวงพาณิชย์ พร้อมให้การสนับสนุนในด้านนโยบายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ พร้อมช่วยอำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่.