“ชูศักดิ์” ดับฝันฝ่ายค้านซัดเป็นไปไม่ได้ขย่มซักฟอก 5 วัน ยันเต็มที่ไม่เกิน 2-3 วัน กางปีกป้อง “ทักษิณ” เป็นคนนอกมีสิทธิฟ้องกลับ งัดข้อบังคับสภาฯ ห้ามพูดพาดพิง “ภูมิธรรม” ฮึ่มให้รีบทบทวนฟัดคนนอกกฎหมายไม่คุ้มครอง “สุดารัตน์” ย้ำจุดยืน ทสท.ค้านทำการพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย ลากกาสิโนขึ้นเขียง แฉขาใหญ่การเมือง-กลุ่มทุนซุ่มดีลล่วงหน้า ส่อทุจริตเชิงนโยบาย “วันนอร์” เดินหน้าประชุมร่วมรัฐสภา 13-14 ก.พ. วัดใจ 67 สว.ปล่อยผ่านหรือตีตกร่างแก้ รธน.ม.256 “นันทนา” ทวงจิตวิญญาณ สว.ยอมแก้ไขกติกาประชาธิปไตย “พรชัย” ดักคอกลุ่มต้านอย่าอ้างเหตุญัตติชงแก้ รธน. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย “มายด์ ภัสราวลี” นำภาคประชาชน กดดัน สว.ปลดล็อกรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ “นายกฯอิ๊งค์” หารือ “นาโอมิ” ปิ๊งไอเดียจัดประกวดแฟชั่นต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์ไทย
ข้อเรียกร้องของพรรคฝ่ายค้านที่จะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลปลายเดือน ก.พ. โดยขอเวลาซักฟอก 5 วัน ไม่ได้รับการตอบรับจากฝ่ายรัฐบาล โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิเสธหนักแน่นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เวลาถึง 5 วัน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเต็มที่คงใช้เวลาไม่เกิน 2-3 วันเท่านั้น
“ชูศักดิ์” ให้ขย่มเต็มที่ไม่เกิน 2–3 วัน
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันที่ 27 ก.พ. โดยขอกรอบเวลาอภิปราย 5 วันว่า เท่าที่มีประสบการณ์มาไม่มีหรอก 5 วัน เต็มที่ไม่เกิน 2-3 วัน แต่สุดแท้แต่คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) จะตกลงกัน แต่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้เวลาถึง 5 วัน ส่วนรัฐบาลจะพร้อมเปิดให้อภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงไหนต้องหารือกันว่าช่วงเวลาใดที่สะดวก
...
ชี้ “ทักษิณ” มีสิทธิฟ้องถูกพาดพิง
เมื่อถามว่า กรณีฝ่ายค้านจะอภิปรายพุ่งเป้าไปที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่อยู่นอกรัฐบาล จะมีปัญหาอะไรหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า นายทักษิณไม่ได้รับการคุ้มครองจากสภาอยู่แล้ว เพราะเป็นคนนอก และข้อบังคับสภาก็ห้ามพูดถึงบุคคลภายนอก เมื่อถามว่าหากนายทักษิณ ถูกพาดพิงสามารถฟ้องร้องฝ่ายค้านได้หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า แน่นอน สามารถฟ้องได้ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อถามว่า นายทักษิณสามารถเข้าไปนั่งหลังบัลลังก์ประธานสภาได้หรือไม่ นายชูศักดิ์หัวเราะพร้อมกล่าวว่า ก็รู้อยู่แล้ว ท่านจะเข้าไปได้อย่างไร
ชี้ปรับ ครม.สื่อวิเคราะห์กันไปเอง
นายชูศักดิ์กล่าวอีกว่า กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า ได้ยินจากสื่อ เข้าใจว่าสื่อวิเคราะห์กันไปเอง ยังไม่ได้พูดคุยอะไรกัน การทำงาน 6 เดือนเพียงพอจะต้องปรับ ครม.แล้วหรือไม่ ไม่สามารถวิจารณ์ได้ เป็นดุลพินิจนายกฯ ตราบใดที่รัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้ คงต้องตรวจคุณสมบัติเข้มข้นเหมือนเดิม เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อถามว่าหากพรรคกล้าธรรม (กธ.) เสนอ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา ประธานที่ปรึกษา พรรค กธ. เข้ามาเป็นรัฐมนตรี จะมีปัญหาอะไรหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ไม่สามารถวิจารณ์ตัวบุคคลได้ เพราะไม่ใช่คนที่มีอำนาจชี้ขาดและไม่อยากก้าวล่วง คุณสมบัติรัฐมนตรีต้องทำรัฐธรรมนูญให้เคลียร์เรื่องมาตรฐานคุณสมบัติ ทุกอย่างจะจบได้ ตราบใดประเด็นนี้ไม่เคลียร์จะเถียงกันได้ตลอด ใครจะเป็นคนวัด
ขู่ทบทวนฟาดคนนอก ก.ม.ไม่คุ้มครอง
ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า อยู่ที่ประเด็นหากคิดว่ารัฐบาลมีจุดบกพร่องตรงไหนดูตามประเด็น หากไม่มีประเด็นอะไรใช้เวลาแค่วันเดียวคงพอ แต่หากมีประเด็นที่จะอภิปราย เราไม่มีปัญหาจะใช้กี่วันก็ได้ให้ดูตามความจำเป็น เมื่อถามว่าการอภิปรายครั้งนี้ดูเหมือนจะมุ่งประเด็นไปที่คนนอก คือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายภูมิธรรมกล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือให้อภิปรายรัฐบาล มีข้อวิจารณ์หรือข้อแนะนำอะไรให้กับรัฐบาล ไม่ใช่จะอภิปรายใครก็ทำได้ เพราะมีกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับสภากำหนดอยู่ ขอให้ฝ่ายค้านตรวจสอบทบทวนให้ดี ถ้าไปอภิปรายคนนอก ข้อบังคับสภาและกฎหมายไม่ได้คุ้มครอง เมื่อถามถึงกระแสข่าว ครม.ที่มีออกมามากในช่วงเวลานี้ นายภูมิธรรมกล่าวว่า มาจากสื่อ ฟังครั้งแรกมาจากที่สื่อเสนอ ส่วนคนมีอำนาจปรับจริงคือนายกฯ และตนยังไม่รู้เรื่องนี้ ดังนั้น สื่อควรเริ่มต้นจากฐานข้อมูลที่เป็นจริง หากจะวิเคราะห์ก็วิเคราะห์ไป แต่ถ้ามาถามพวกเรา บอกได้ว่าเราไม่มีปัญหาอะไร
“ธนกร” มั่นใจ รบ.แจงได้ทุกประเด็น
นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า มั่นใจทุกกระทรวงได้ทำงานแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่มีผลงานชัดเจน เชื่อว่ารัฐมนตรีทุกกระทรวงพร้อมตอบข้อซักถามและชี้แจงได้ในทุกประเด็น จะทำให้ประชาชนเข้าใจและเห็นถึงผลการทำงานของรัฐบาลในการอภิปรายครั้งนี้ไปพร้อมๆกัน และในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลเราพร้อมเดินหน้าในการทำงานอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะปัญหาใหญ่เรื่องปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงและค่าครองชีพของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลไม่ว่าพรรคไหน ดูแลกระทรวงใดต้องร่วมมือกันเร่งแก้ปัญหาให้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ทสท.ค้านพนันออนไลน์ถูก ก.ม.
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) เปิดเผยว่า พรรค ทสท. คัดค้านนโยบายการทำบ่อนพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย ขอให้รัฐบาลทบทวนหลักการโครงการเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์หรือสถานบันเทิงครบวงจร ต้องตอบให้ชัดว่าเป้าหมายที่กำลังเร่งผลักดันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจริง หรือเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจบางคนได้รับผลประโยชน์อันมิชอบ โดยไม่คำนึงถึงผลเสีย ผลกระทบและอันตรายที่จะเกิดกับสังคมไทยที่จะตามมา ทั้งสร้างปัญหาหนี้สิน อาชญากรรมและปัญหาอื่นกระทบต่อเด็กและเยาวชน จะมีมาตรการป้องกันและควบคุมที่รัดกุม จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดได้อย่างไร หากได้ไม่คุ้มเสียส่อว่าอาจมีการทุจริตเชิงนโยบายและเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อเปิดบ่อนกาสิโนและขยายธุรกิจการพนันออนไลน์ให้ซึมลึกในสังคมไทยอย่างไร้การควบคุม อาจนำไปสู่ปัญหาสังคมร้ายแรงตามมาในอนาคต
ซักฟอกกาสิโนทุจริตเชิงนโยบาย
“ร่างกฎหมายนี้ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร ประกอบด้วยนักการเมืองและนายกฯเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และค่าตอบแทนต่างๆ โดยไม่มีการกำกับดูแลโปร่งใส อาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพรรคพวก เราพบข้อมูลบ่งชี้ว่ามีการตกลงล่วงหน้าระหว่างนักการเมืองและกลุ่มทุนบางกลุ่มเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการนี้ หากรัฐบาลยังตอบไม่ได้ว่าใครได้ประโยชน์แท้จริง ประชาชนหรือนายทุน พรรคร่วมฝ่ายค้านจะนำเรื่องนี้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเชิงลึกแน่นอน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้เร่งด่วน และให้ทำประชามติรับฟังเสียงประชาชนก่อน หากยังไม่ชัดเจนในแนวทางการดำเนินการและการควบคุมผลกระทบ โดยเฉพาะต้องจับตาใกล้ชิดถึงการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องและการทุจริตเชิงนโยบาย พรรคจะเดินหน้าตรวจสอบ พร้อมยื่นพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
ภาค ปชช.กดดัน สว.รับร่างแก้ รธน.
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ตัวแทนคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ยื่นหนังสือถึงนายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. เรียกร้องให้รัฐสภารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 13-14 ก.พ. โดย น.ส.ภัสราวลีกล่าวว่า คณะรณรงค์ฯเปิดแคมเปญลงชื่อทางออนไลน์ เรียกร้องให้รัฐสภารับร่างรัฐธรรมนูญ เสนอเข้ามาจัดกิจกรรมประชาชน บริเวณรัฐสภา วันที่ 13-14 ก.พ. ติดตามการลงมติ มีเวทีพูดคุยสาธารณะ เวลา 18.00 น. จะเชิญประธานวุฒิสภาและ สว.ร่วมเวทีพบปะประชาชน แสดงมุมมองวิสัยทัศน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการแก้มาตรา 256 นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 13-14 ก.พ. เป็นวันสำคัญชี้ชะตาถึงอนาคตรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หวังให้รัฐสภาพิจารณารับประกันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ร่าง เพราะ สว.เป็นกุญแจปลดล็อกร่างรัฐธรรมนูญที่สำคัญมาก ขณะนี้ติดล็อกเกณฑ์เสียง 1 ใน 3 ของ สว. หาก สว.ไม่โหวตให้ผ่านก็ไม่รู้ว่าอนาคตการร่างรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด การร่างรัฐธรรมนูญคงเสร็จไม่ทันก่อนการเลือกตั้งปี 2570 แน่ วันที่ 13-14 ก.พ. รัฐสภาต้องผ่านร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ร่างให้ได้
ทวงจิตวิญญาณ สว.รื้อกติกาประเทศ
ที่รัฐสภา น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ แถลงถึงการประชุมรัฐสภา วันที่ 13-14 ก.พ. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และ เพิ่มหมวดใหม่ให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกของประชาชน และการลดอำนาจ สว.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเห็นด้วยกับการทำประชามติ 2 ครั้ง คือหลังแก้มาตรา 256 เพื่อให้ประชาชนเห็นด้วยกับการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. และครั้งที่สองหลัง ส.ส.ร.ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ เพื่อประหยัดเวลาและงบฯ แต่ สว.ตกเป็นจำเลยสังคม จะแก้รัฐธรรมนูญได้ต้องใช้เสียง สว. 67 เสียง หาก สว.ไม่โหวตการแก้รัฐธรรมนูญจะไม่เกิดขึ้น จึงขอเชิญชวน สว.มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยโหวตผ่านเพื่อได้กติกาประชาธิปไตย ได้รัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนและเป็นของประชาชน
ดักคอขั้วต้านอย่าอ้างไม่ชอบด้วย ก.ม.
นายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่กล่าวว่า มี สว.บางคนมองว่าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 13-14 ก.พ.อาจไม่ชอบด้วยเหตุผลบางประการ มองว่าชอบด้วยกฎหมายทุกประการ เพราะนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา บรรจุเนื้อหาเอง จึงเป็นความชอบธรรมทางกฎหมาย หวังว่าจะไม่เป็นข้ออ้างของ สว. เพื่อไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ
“วันนอร์” สั่งเดินหน้าประชุมร่วมรัฐสภา
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ กล่าวถึง ข้อกังวลที่อาจมีผู้ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลยหรือไม่ หรือต้องทำประชามติก่อนว่า ได้รับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ญัตติคือ 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. และคณะ 2.ร่างของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. และคณะ เป็นของพรรคร่วมรัฐบาลได้หารือกับวิป 3 ฝ่ายและผู้แทน ครม. เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ได้ข้อสรุปบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันที่ 13-14 ก.พ. วางกรอบพิจารณา 19 ชั่วโมง ข้อกังวลดังกล่าวเป็นเรื่องความเห็น ไม่ทราบจะส่งให้ศาลฯตีความประเด็นใด มาจากกลุ่มไหน ถ้าสมาชิกรัฐสภาต้องมีผู้เข้าชื่อไม่ น้อยกว่า 40 คน และประธานรัฐสภาต้องหารือที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่า จะมีผู้เห็นด้วยให้ประธานสภาฯส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ หากเสียงข้างมากเห็นว่าควรส่ง ประธานฯจะส่ง
วัดใจเสียง 67 สว.ให้ผ่านหรือตีตก
นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ได้นำเอาญัตติทั้ง 2 ไปหารือในที่ประชุมที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของประธานสภาฯแล้ว เสียงข้างมากเห็นว่าบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเพื่อพิจารณาได้ มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าควรบรรจุ ได้ใช้การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะส่งให้ศาลท่านบอกว่าเรื่องยังไม่เกิด อำนาจบรรจุญัตติเป็นอำนาจของประธานรัฐสภา เรื่องยังไม่บรรจุจะไปถามศาลทำไม และยังถามศาลว่าควรทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง ศาลบอกให้วินิจฉัยเอาเอง จึงตีความว่าการจะให้รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ ต้องถามมติจากรัฐสภา จึงต้องมีการประชุม ถ้าวาระแรกชั้นรับหลักการต้องมีเสียงข้างมากเห็นชอบมากกว่า 1 ใน 3 แล้วฝ่ายวุฒิสภาต้องมีผู้ไม่เห็นด้วยเสียงเกิน 1 ใน 3 คือ 67 คนขึ้นไป ต้องถือว่าญัตติต้องตกไปในวาระแรก ไม่ต้องไปถามประชามติแล้ว แต่ถ้าวาระแรกผ่านแสดงว่าต้องการทำแล้ว ตนหยุดกระบวนการรัฐสภา แล้วนำให้ กกต.ทำประชามติว่าจะเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ในมาตรา 256 และหมวด 15/1 ถ้าประชาชนเห็นด้วยเดินหน้าต่อ แต่หากไม่เห็นด้วยยุติทั้งหมด จะได้ไม่ต้องเสียเงินงบฯแผ่นดินทำประชามติหลายรอบ ทำประชามติครั้งหนึ่งใช้ 3 พันล้านบาท
“ชูศักดิ์” หาช่องชงศาล รธน.วินิจฉัย ปชต.
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำ สำนักนายกฯ กล่าวว่า วันที่ 13-14 ก.พ. เท่าที่ทราบ อาจมีผู้ลุกขึ้นมาโต้แย้งประเด็นบรรจุวาระถูกต้องหรือไม่ สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และอาจมีการเสนอญัตติและทำคำร้องถึงศาล รัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 และตาม ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 31 เข้าชื่อ 40 คน ให้ศาลวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง ต้องดูว่ารัฐสภาจะมีมติเห็นชอบกับแนวทางยื่นคำร้องให้ศาล รัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ หลายภาคส่วนวิตกกังวล จึงอยากให้ดำเนินการแนวทางนี้ เป็นใคร เราก็รู้กันอยู่ ทั้ง สว.และพรรคการเมือง ได้ยินมาเป็นเช่นนั้น และการเสนอญัตติทำนองนี้แทนที่จะนำไปสู่การโหวตเลย ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียก่อน เพราะโหวตเลยสมมติว่าอาจไม่ผ่าน เสียของไปเลย แต่หากไปศาลก่อนเคลียร์คัตกันให้เรียบร้อยก่อนว่า มีความแน่นอนเป็นอย่างไร จะต้องทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง
ยันอำนาจรัฐสภาทำกฎหมาย
นายชูศักดิ์กล่าวว่า ยืนยันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการเสนอญัตติ ใช้อำนาจหน้าที่สมาชิกรัฐสภาพิจารณากฎหมาย และประธานเปิดโอกาสให้บรรจุวาระ พิจารณาไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นว่าจะมีการ ผิดกฎหมาย เมื่อถามว่าหากมีการเสนอศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ผลออกมาให้ทำประชามติ 3 ครั้ง กระบวนการที่ดำเนินการอยู่ในรัฐสภาจะไปทิศทางใด นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ต้องกลับไปเริ่มต้นทำประชามติก่อนแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่านายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะมีความผิดหรือไม่ ที่บรรจุวาระขัดต่อ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากผลการวินิจฉัยออกมาว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง นายชูศักดิ์ตอบว่า มองว่าไม่ผิด เนื่องจากใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และหน้าที่ของรัฐสภามีหน้าที่ตรากฎหมาย องค์กรอื่น จะมาก้าวล่วงหรือเกี่ยวข้องไม่ได้
“นาโอมิ” ปลื้ม “นายกฯอิ๊งค์” ชอบแฟชั่น
เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ต้อนรับ น.ส.นาโอมิ เอเลน แคมป์เบลล์ นางแบบชื่อดังระดับโลก เข้าพบ หารือแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นในโอกาส มาเยือนประเทศไทย มี น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต. ประจำสำนักนายกฯ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกฯ ประธานคณะ กรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติเข้าร่วม น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ดีใจที่ได้เจอ เคยมีเสื้อของ MARC JACOBS สมัยเรียน จำได้หรือไม่ว่าสวมชุด Collection ดังกล่าวเป็นที่นิยมมาก ขณะที่ น.ส. นาโอมิชื่นชม น.ส.แพทองธารที่ชื่นชอบแฟชั่น นายกฯ จึงขอบคุณ พร้อมบอกว่าชอบใส่แฟชั่นแตกต่างไม่เหมือนนายกฯคนอื่นๆ ทำให้ น.ส.นาโอมิตอบ กลับมาว่า “มันเป็นเรื่องที่ดี” จากนั้นนายกฯ ระบุว่า ไทยมีจุดแข็ง เรามีลายผ้าเป็นเอกลักษณ์ มีคนที่มีทักษะผลิตผ้าได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อทำให้แฟชั่นมี เอกลักษณ์ น.ส.นาโอมิบอกว่า เคยมาเมืองไทยแล้วในปี 1994 เคยมาแล้วหลายครั้ง รู้สึกชอบคนไทย คนไทยน่ารัก ชอบอากาศเมืองไทย และตื่นเต้นที่จะได้มาช่วยงานซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ช่วงเช้าได้ไปห้างเซ็นทรัล ชิดลม ต้องการเห็นสินค้าท้องถิ่น เครื่องแต่งกายและสกินแคร์ เพื่อดูว่าจะทำอะไรเพิ่มเติมไปต่อยอดได้
ปิ๊งแนวทางประกวดแฟชั่นดึงจุดสนใจ
จากนั้นเวลา 16.00 น. น.ส.แพทองธารพา ด.ญ.ธิธาร สุขสวัสดิ์ บุตรสาว และ ด.ช.พฤจ์ธาษิณ สุขสวัสดิ์ บุตรชาย ที่มารับกลับบ้านลงมาเดินเล่นสนามหญ้า หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ผู้สื่อข่าวถามถึงการพูดคุย กับนาโอมิ น.ส.แพทองธารตอบว่า “ดีค่ะ มีการพูด เรื่องวิธีคิดต่างๆ ความสวยต้องเริ่มจากความมั่นใจ จะนำมาพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยได้เยอะเลย เช่น การประกวดแฟชั่นต่างๆ อยากให้เมืองไทย จัดประกวด เพื่อให้มีอะไรน่าสนใจมากขึ้น เพราะคนไทยมีฝีมือดี” เมื่อถามว่าจะตั้งนาโอมิเป็นที่ปรึกษา หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า “ยัง เดี๋ยวคุยกันต่อว่าจะอย่างไร ยังไม่มีการตกลงอะไร”
สว.โหวตคว่ำอดีตเลขาฯ ป.ป.ช.นั่ง คตง.
ที่รัฐสภามีการประชุมวุฒิสภา มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 6 คน ตามที่คณะวิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง คตง.พิจารณาเสร็จแล้ว โดยประชุมลับโดยมติที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 4 คน ได้แก่ นางเกล็ดนที มโนสันติ์ อดีตรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เสียงเห็นชอบ 167 คะแนน ไม่เห็นชอบ 9 คะแนน ไม่ออกเสียง 14 คะแนน 2.นางพรพิมล นิลทจันทร์ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ 170 คะแนน ไม่เห็นชอบ 3 คะแนน ไม่ออกเสียง 17 คะแนน 3.นายยุทธพงษ์ อภิรัตนรังษี อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เห็นชอบ 161 คะแนน ไม่เห็นชอบ 6 คะแนน ไม่ออกเสียง 22 คะแนน 4.นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร อดีต ผอ.สำนักงบประมาณ เห็นชอบ 175 คะแนน ไม่เห็นชอบ 4 คะแนน ไม่ออกเสียง 12 คะแนน ส่วนอีก 2 คนไม่ได้รับความเห็นชอบคือ น.ส.พศุตม์ณิชา จำปาเทศ อดีตรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เห็นชอบ 48 คะแนน ไม่เห็นชอบ 116 คะแนน ไม่ออกเสียง 27 คะแนน และนายนิวัติไชย เกษมมงคล อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. เห็นชอบ 30 คะแนน ไม่เห็นชอบ 145 คะแนน ไม่ออกเสียง 15 คะแนน
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่