“สิทธิพล วิบูลย์ธนากูล” ถามกระทู้สดบี้รัฐบาลเร่งหามาตรการรับมือนโยบายกำแพงภาษีของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ห่วงสินค้าเกษตรไทยได้รับผลกระทบหนัก ถูกขึ้นภาษีนำเข้า ด้าน รมช.พาณิชย์ ชี้แจงไม่ได้นิ่งนอนใจ ตั้งทีมเจรจาการค้าสหรัฐ ต่อรองขึ้นภาษีนำเข้า พร้อมหาตลาดใหม่ส่งออกเพิ่มเติม

วันที่ 6 ก.พ. 2568 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดของนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากูล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่สอบถามรมว.พาณิชย์ ถึงมาตรการรับมือสงครามการค้าโลกของรัฐบาล ภายหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงจะถูกขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า เพราะอยู่ในอันดับ 12 ของประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ มากว่า 10 ปี สินค้าไทยที่เสี่ยงถูกขึ้นภาษีคือ สินค้าเกษตร แม้รัฐบาลจะประกาศหาตลาดใหม่เพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบจากนโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐ แต่การหาตลาดใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีคู่แข่งจากจีนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากนโยบายสหรัฐ สินค้าจีนที่ถูกกีดกัน จะล้นตลาดโลก ส่งมาขายในประเทศไทย กระทบกับธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มเติม จึงต้องเตรียมตัวรับมือสินค้าไม่ได้คุณภาพจากจีนเข้ามาตีตลาดไทยด้วย เช่น เหล็ก วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตร สินค้าแปรรูป จะต้องมีมาตรการรับมือสินค้าไม่ได้คุณภาพเหล่านี้ ไม่อยากให้รัฐบาลประเมินผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีสินค้าของสหรัฐต่ำเกินไป การจะไปเจรจากับสหรัฐนั้น จะเอาอะไรไปต่อรองแลกเปลี่ยน

...

ขณะที่นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ ตอบกระทู้สดชี้แจงแทนรมว.พาณิชย์ว่า ประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐมานาน 10 ปี เกินดุลสหรัฐฯ อยู่ประมาณ 3.8% รวมถึงประเทศในอาเซียนอื่นๆ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ เช่นกัน ดังนั้นอาเซียนจึงอยู่ในกลุ่มเสี่ยงถูกตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เดินทางไปเยือนประเทศสหรัฐ พูดคุยกับนักธุรกิจ ผู้บริหารสหรัฐฯ เพื่อต่อรองนโยบายการขึ้นภาษีให้ได้มากที่สุด อีกทั้งน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการตั้งคณะทำงานนโยบายการค้ากับสหรัฐฯ โดยตรง มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน รวบรวมข้อมูลปัญหาต่างๆ หาแนวทางรับมือมาตรการกำแพงภาษีสหรัฐที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย แนวทางของประเทศไทยขณะนี้คือ การรักษาตลาดเดิมกับสหรัฐ และเตรียมพร้อมหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น จีนทางตอนใต้และตะวันตก อินเดีย ยูเออี ในกรณีถูกตั้งกำแพงภาษี มีการติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด เชื่อว่า นโยบาย “ทรัมป์” จะกระทบไทยไม่มากนัก หรือไม่กระทบเลย ถ้าเจรจากันได้ หรือสามารถหาตลาดใหม่เพิ่มได้ ส่วนการควบคุมสินค้าจากจีน นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการควบคุมสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ มีรมว.พาณิชย์เป็นประธาน วางมาตรการตรวจสอบสินค้านำเข้าจากต่างประเทศจาก 20% เป็น 30-40% สินค้าที่นำเข้าต้องติดฉลากภาษาไทย ส่วนรายละเอียดการไปเจรจากับสหรัฐนั้น เป็นเรื่องของคณะทำงานนโยบายการค้ากับสหรัฐฯ จะไปดำเนินการ