“อนุทิน” นั่งหัวโต๊ะถกหน่วยงาน ระดมแก้ฝุ่น-หมอกควัน ผุดไอเดีย มอบเงินช่วยเหลือหยุดเผา ฮึ่ม คว่ำบาตรสินค้าเกษตรนำเข้า ที่มาจากการเผา
วันที่ 29 มกราคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงมหาดไทยมีการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์และการแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ติดตามความคืบหน้าสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการติดตามการแก้ไขปัญหาของผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ รวมถึงติดตามการแก้ไขปัญหาลดการเผา โดยการจัดหาพื้นที่ฝังกลบซากพืชให้กับเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ และการหามาตรการลดฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร ผ่านมาตรการด้านการจราจร ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมไปถึงมาตรการป้องกันในระยะสั้น เช่น การจัดการให้ประชาชนทำงานที่บ้าน ปิดโรงเรียนเด็กเล็กในช่วงที่ค่าฝุ่นอยู่ในระดับวิกฤติ
นอกจากนี้ จะมีการยกระดับปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในพื้นที่ที่มีจุดความร้อนสูง (HotSpot) ใน จ.กาญจนบุรี จ.ชัยภูมิ จ.ลพบุรี จ.ตาก และ จ.นครราชสีมา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาในศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อดูแลสถานการณ์ในพื้นที่ให้ดีขึ้น เข้มงวดตรวจการเผาในพื้นที่ จัดหาแหล่งฝังกลบให้กับเกษตรกร

...
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงเป็นใยต่อสถานการณ์นี้อย่างมาก ซึ่งได้ติดตามและประสานงาน ประชุมและเรียกประชุมหารือกับตนตลอดเวลาในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศ และตนได้รายงานไปว่าเราทุกคนมีความพร้อมในการรับมือป้องกันและแก้ไข นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีข้อสั่งการให้ตนแต่งตั้ง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นที่ปรึกษา บกปภ.ช.
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย เดินทางไป จ.เชียงใหม่ ซึ่งในภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีจุดความร้อนเยอะที่สุด เพราะมีการเผาพืชผลการเกษตรมากที่สุด ซึ่งข้าราชการจังหวัดทั้ง 17 ในภาคเหนือ ประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามเผา และมีการสั่งการยกระดับทุกมาตรการ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ระบบเบ็ดเสร็จ (single command) เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ตนจึงขอความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน การทำงานร่วมกันครั้งนี้เป็นรูปแบบตัวแทนรัฐบาล ไม่ใช่กระทรวงมหาดไทยไปสั่งงานกระทรวงใด แต่ทำภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และขอให้นำความไปแจ้งเพื่อให้หน่วยงานให้ความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด

นายอนุทิน กล่าวต่อไปว่า หากเราร่วมมือกันเต็มที่ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เพราะปัญหามาจากการเผา หากลดการเผาได้ มลภาวะทางอากาศก็จะลดลง จึงไม่ต้องกังวลว่าเพื่อนบ้านจะทำอย่างไร เราต้องจัดการในบ้านของเราให้เรียบร้อยก่อน ถ้าในบ้านเราเรียบร้อยแล้วแล้วยังมีเหตุมาจากเพื่อนบ้าน ก็จะมีความกดดันมายังรัฐบาล รัฐบาลต้องเร่งไปเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ในการคว่ำบาตร ไม่อุดหนุนสินค้าทางการเกษตร หากมาจากการเผาวัชพืชเหล่านี้และก่อให้เกิดมลพิษข้ามมายังประเทศเรา สิ่งสำคัญคือเราต้องดำเนินการแก้ไขในบ้านของเราให้เรียบร้อยเสียก่อน
ทั้งนี้ที่ อ.แม่แจ่ม อำเภอเดียวอาจทำให้หมอกควันปกคลุมทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ จ.เชียงใหม่ อย่างเดียว เพราะมีซังข้าวโพดถึง 700,000 กิโลกรัม ทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล ซึ่งต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวด เช่นที่ จ.เชียงใหม่ ให้มีการฝังกลบหรือแปรสภาพเศษซังข้าวโพด ซึ่งรัฐต้องสนับสนุนเครื่องจักรเข้าไป หรือนำไปเป็นเชื้อเพลิงไบโอเพาเวอร์ เอาไปเป็นไอน้ำความร้อนฝ่ายผลิตไฟฟ้า เอาไปแปรสภาพเป็นอาหารสัตว์ หรือทำปุ๋ยชีวภาพ แต่ภาครัฐต้องช่วย
ในตอนท้าย นายอนุทิน ระบุด้วยว่า เราเจอภัยพิบัติมาโดยตลอด ต้นปีภาคเหนือ ไตรมาส 3 ภาคกลาง ไตรมาส 4 ภาคใต้ เราใช้เงินเกือบ 20,000 ล้านบาท เป็นค่าชดเชยทดแทนความเดือดร้อน หลังคาเรือนละ 9,000 บาท ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ก็ใกล้เคียงกัน น้ำลดหรือเพิ่มเกิน 3 วัน ชาวบ้านได้เงิน แต่กรณีหมอกควันยังไม่เกิดขึ้น เราจะเอาเงินไปให้ชาวบ้านก่อนไม่ได้ ซึ่งต้องเกิดการเผาและเกิดมลพิษควันดำก่อน กว่าจะเอาเงินออกมาได้ความเสียหายค่ามลพิษต้องเกิน 150 ไมโครกรัม หากไปถึงจุดนั้นประเทศไทยมืดมิดไปทั้งประเทศ ถึงจะนำเงินไปใช้ได้ จึงขอข้อแนะนำช่วยกันคิดการสนับสนุนของแต่ละจังหวัด ในการผลักดันให้มีงบช่วยเหลือชาวบ้านก่อนเพื่อที่จะให้หยุดเผา เป็นจุดที่ต้องวางมาตรการ มันดูเหมือนภัยพิบัติแต่การช่วยเหลือแตกต่างกัน ในส่วนนี้ขอความร่วมมือทุกฝ่ายความมั่นคงทหาร ตำรวจ ภาครัฐเกษตรทรัพยากร และหน่วยงานเทคโนโลยีให้ช่วยกัน ส่วนที่บังคับใช้กฎหมายก็ต้องทำอย่างเต็มที่ ไม่ให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายและก่อให้เกิดความเดือดร้อน.

