กรรมาธิการพัฒนาการเมือง สภาผู้แทนราษฎร หารือร่วม 2 ผู้พิพากษา เสนอยกเลิก “หลักสูตร บ.ย.ส.” หวั่นเอื้อระบอบอุปถัมภ์ ด้านผู้อำนวยการหลักสูตรไม่มาชี้แจง

วันที่ 23 ม.ค. 68 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวถึงวาระการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเสนอยกเลิกหลักสูตร ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรม (บ.ย.ส.) ของศาลยุติธรรมเพื่อป้องกันระบบอุปถัมภ์ ว่า วันนี้พิจารณาเรื่องข้อเสนอของผู้พิพากษาสองท่าน ที่จะมีการเสนอให้ศาลยุติธรรมยกเลิกหลักสูตร บ.ย.ส. และกำหนดไม่ให้ผู้พิพากษาไปร่วมหลักสูตรอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกันอย่าง ว.ป.อ.

โดยมีข้อกังวลว่าหลักสูตรดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ที่ไปกระทบต่อความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา และอาจมีการใช้งบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงอาจไม่มีประโยชน์ที่ชัดเจนเพียงพอ

จึงมีการเชิญผู้เสนอทั้งสองท่านมาร่วมชี้แจงในวันนี้ และเชิญผู้ที่รับผิดชอบหลักสูตรมาด้วย รวมไปถึงศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ, ผศ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ได้มีการเสนอความเห็นในประเด็นนี้ ซึ่งตอนแรกเข้าใจว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะมาทุกคน แต่รายชื่อของตัวแทน บ.ย.ส. ที่ได้ส่งมาเมื่อวันอังคาร กลับส่งหนังสือแจ้งมาเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้แล้ว วาระในวันนี้จึงเป็นการพูดคุยกับผู้เสนอเป็นหลัก เกี่ยวกับข้อกังวลและข้อสงสัยเพื่อเชิญตัวแทน บ.ย.ส. มาชี้แจง

...

นายพริษฐ์ กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้มีการพิจารณา ก่อนหน้านี้เคยมีการเชิญตัวแทนของหลักสูตรอื่น ๆ มาชี้แจง ซึ่ง ณ เวลานั้น ตัวแทนของหลักสูตรอื่น ๆ ก็มาชี้แจง แต่ตัวแทนของ บ.ย.ส. ไม่มา โดยหากหลักสูตรเหล่านี้ ถ้านำไปสู่ระบอบอุปถัมภ์ ตนเองคิดว่าจะส่งผลเสียต่อประเทศได้ และต้องยอมรับว่าปัญหาอันดับต้น ๆ ของไทยคือเรื่องระบอบอุปถัมภ์ที่กระทบต่อประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจ เราเชื่อว่าเศรษฐกิจเราพัฒนาได้ โอกาสต่าง ๆ ของความสามารถ ความพยายาม ไม่ใช่บนพื้นฐานว่าใครรู้จักกับใคร และจะเป็นการส่งเสริมให้คนพัฒนา Know How มากกว่า Know Who และพัฒนา นวัตกรรมใหม่ ๆ มากกว่าการทำความรู้จักกับกลุ่มคนที่มีอำนาจ และในมุมของการพัฒนาการเมือง

"ผมคิดว่าถ้าเราอยากให้การเมืองเข้มแข็ง กฎหมายทุกอย่างจะต้องถูกบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ต้องรู้สึกเสียเปรียบกับใครเพียงเพราะรู้จักใคร ไม่ว่าจะผ่านการคัดเลือกผู้เข้าเรียนมาจากตำแหน่งหน้าที่ ก็มีความเสี่ยงที่อาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กัน หากวัฒนธรรมเหล่านี้ ยิ่งส่งเสริมความเป็นรุ่น ความเป็นพี่น้อง ที่อาจไปกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละคน ก็เป็นความเสี่ยง" ดังนั้น วันนี้ก็มาต่อยอดปีที่แล้ว และขอบคุณผู้พิพากษาทั้งสองคนที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมา การมีเสียงสะท้อนและวิจารณ์องค์กรเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะเปลี่ยนแปลง และการเชิญมาชี้แจงในครั้งถัดไปจะพยายามทำให้รวดเร็วที่สุด

นายพริษฐ์ กล่าวว่า หากย้อนไปดูบันทึกการประชุมปีที่แล้ว จะเห็นว่าแม้ว่าทางผู้รับผิดชอบหลักสูตรจะพยายามชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของหลักสูตรดังกล่าว แต่กรรมาธิการได้สะท้อนข้อเสนอไปว่าอาจจะไม่ยกเลิกและยังคงอยู่ แต่มีแนวทางการแก้ไขอย่างไรบ้าง เพื่อให้เพิ่มความโปร่งใสและลดความเสี่ยง และได้เคยทำข้อเสนอไปแล้วว่าหากไม่ยกเลิก จะมีการดำเนินการอย่างไร