คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ขานรับข้อเสนอ "ทักษิณ" พร้อมทุบค่าไฟลงทันที 0.17 สตางค์ต่อหน่วย เตรียมส่งหนังสือถึงนายกฯ เจรจาบริษัทผลิตไฟฟ้า ปรับสัญญาเป็นระยะยาว ด้าน "วรวิทย์" ชี้ ต้นเหตุค่าไฟแพง เพราะตั้งต้นทุนรับซื้อไฟเกินจริง ทำประชาชนรับภาระหนัก
วันที่ 16 มกราคม 2568 ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เกี่ยวกับแนวทางการลดค่าไฟฟ้า ว่า กกพ. ได้พิจารณาถึงแนวทางการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในอดีตเมื่อปี 2565 ระหว่างการเกิดวิกฤติการณ์สงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ทำให้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นถึง 6 เท่า ซึ่งหลายมาตรการได้ดำเนินการไปแล้ว แต่หนึ่งในมาตรการที่ กกพ. ได้เสนอไปในห้วงเวลานั้น คือการทบทวนปรับปรุงเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้าที่ได้รับสัญญา Adder และ Feed in Tariff (FiT) ตั้งแต่ปี 2547 ที่มีทั้งประเภทเชื้อเพลิงโซลาร์เซลล์ลม (สัญญา 10 ปี) ไบโอแมส ไบโอแก๊ส (สัญญา 7 ปี) ทั้งหมด 533 บริษัท คิดเป็น 3,940 เมกะวัตต์ ซึ่งคณะกรรมการมองว่า หลังจากบริษัทดังกล่าวได้เข้าร่วมสัญญาและประกอบกิจการจนถึงจุดคุ้มทุนแล้ว ประกอบกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามีราคาถูกลง จึงอยากให้พิจารณาทบทวนต้นทุนในช่วงเวลาปัจจุบัน จากการประเมินดังกล่าว พบว่าจะสามารถลดค่าไฟได้ถึง 17 สตางค์ทันที โดยที่ไม่กระทบต่อผู้ประกอบการ
เมื่อถามว่าหากได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล มีแนวโน้มที่จะปรับลดจาก 3.93 บาทเป็น 3.70 บาทหรือไม่ ดร.พูลพัฒน์ มองว่า ตัวเลข 17 สตางค์เป็นกรอบกว้าง ที่ประเมินจากการคำนวณการใช้ไฟในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน แต่หากจะให้มองถึงแนวทางในการรีดไขมันเพื่อปรับลดตัวเลขให้ลดลงไปอยู่ที่ 3.70 บาทต่อหน่วย อาจจะเป็นแนวทางการลดต้นทุนของพลังงานการผลิต ซึ่งมองไปถึงการปรับเปลี่ยนสัญญากับผู้ขาย จากระยะสั้นเป็นระยะยาว จะทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง รวมทั้งเรื่องการผลิตในประเทศที่จะนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น
...

ยอมรับต้นทุนรับซื้อไฟสูงเกินจริง
ขณะที่ นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า โครงการ Adder และ Feed in Tariff (FiT) มีต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าสูงกว่าราคาต้นทุนจริงในภาวะปัจจุบัน และโครงการดังกล่าวไม่มีวันสิ้นสุดสัญญาเป็นเหตุให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงโดยไม่จำเป็น อีกทั้งบริษัทผู้ผลิตก็ได้กำไรเกินสมควร
ตนเชื่อว่านายกรัฐมนตรีที่มีสติปัญญามากกว่าตน จะเจรจาเพื่อลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ให้เหลือต้นทุนในการผลิตที่แท้จริง ตามที่พระราชบัญญัติกำกับกิจการพลังงานที่ระบุไว้ เพื่อให้ประชาชนจ่ายตามราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งการดำเนินการหลังจากนี้จะมีการส่งหนังสือแนวทางการปรับลดค่าไฟฟ้าตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด