“รมว.กต.” ยัน วงหารือ 5 ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีประเด็นรองรับการเลือกตั้งเมียนมา ย้ำ ความขัดแย้งเป็นเรื่องภายใน ประเทศอื่นไม่สามารถบังคับได้ ด้าน “กัณวีร์” เสนอดำเนินการทูตแบบแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์ แทน “Quiet Diplomacy” หวัง สร้างสันติภาพ-ความปรองดองที่ยั่งยืน
วันที่ 9 มกราคม 2568 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง เป็นประธาน นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ได้ตั้งกระทู้ถามสด นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงสถานการณ์ในเมียนมา ที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอลเซ็นเตอร์ ออนไลน์สแกม ขบวนการค้ามนุษย์ หรือ เรือประมงไทย ว่า กรณีที่เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการเชิญ 5 ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา ทั้งไทย สปป.ลาว จีน อินเดีย และบังคลาเทศ มาหารืออย่างไม่เป็นทางการ ที่ประเทศไทย เพื่อพูดคุยถึงการสร้างสันติภาพในเมียนมานั้น ได้มีการพูดคุยถึงการเลือกตั้งในปี 2568 ของเมียนมา ที่สภาทหารเมียนมาเล็งจะใช้เวทีการหารือดังกล่าวมารองรับผลการเลือกตั้งด้วยหรือไม่
ด้าน นายมาริษ จึงได้ลุกขึ้นตอบคำถาม โดยระบุว่า “การประชุมเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 เป็นการประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความไม่สงบในเมียนมา แต่ไม่มีส่วนใด หรือ ประเทศไหนพูดคุยเกี่ยวกับการยอมรับผลการเลือกตั้งในเมียนมาแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับเมียนมาทั้งหมด”

...
ขณะที่ เรื่องการคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมา นายมาริษ ชี้แจงว่า ทุกคนทราบดีว่าประเทศไทยมีชายแดนติดกับเมียนมา จึงส่งผลให้ไทยได้รับผลกระทบในหลายๆ ด้าน ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทบาทสำคัญที่จะหาทางออกช่วยเหลือให้สถานการณ์ในเมียนมาคลี่คลาย เพราะรัฐบาลตระหนักดีว่าสถานการณ์ในเมียนมามีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน และมีผู้เล่นที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก การดำเนินการทางการทูตที่ผ่านมาจึงต้องทำให้สมดุลในหลากหลายมิติ และหลากหลายช่องทาง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งในเรื่องของผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โดยต้องประเมินจังหวะเวลาที่เหมาะสม และดำเนินการอย่างเงียบๆ แบบ Quiet Diplomacy โดยไทยมีหลักการสำคัญคือ ไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนกับการใช้ความรุนแรงของทุกกลุ่ม และไม่ต้องการเห็นการสู้รบคงอยู่ต่อไปในเมียนมา เพื่อให้เมียนมากลับสู่ความสงบสุข และชาวเมียนมามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงต้องมีการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์กับทุกภาคส่วน
ส่วนเรื่องปัญหาความขัดแย้งอื่นๆ นั้น ย้ำว่า เป็นเรื่องภายในของเมียนมา ดังนั้นฝ่ายต่างๆ ของเมียนมาจะต้องหาทางออกกันเอง จึงมีความยั่งยืน ซึ่งประเทศภายนอกไม่สามารถเข้าไปบีบบังคับให้เมียนมาเป็นไปในรูปแบบที่ตนต้องการได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ประเทศไทยจะสนับสนุนได้ คือพยายามหาทางให้ฝ่ายต่างๆ หันหน้ามาคุยกันตามกระบวนการ และดำเนินการทูตเชิงรุก เพื่อให้เกิดความสงบสุข และความปรองดอง อันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ที่ดีต่อประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ความมั่นคง เศรษฐกิจ หรือ สังคม เป็นต้น
ด้าน นายกัณวีร์ จึงลุกขึ้นอีกครั้ง โดยกล่าวว่าปัจจุบัน Quiet diplomacy ไม่สามารถทำได้แล้ว ดังนั้นขอเสนอให้ไทยเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายทางการทูต เป็นการแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์ โดยใช้จุดแข็งของเรา ทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดการสร้างสันติภาพในเมียนมา
