“สว.เปรมศักดิ์” ย้ำจุดยืนค้านร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับพรรคประชาชน ยัน สว.ส่วนใหญ่ ต้านแก้หมวด 1-2 พ่วงคุณสมบัติต้องห้าม เตือน เร่งรีบทำมักเสียหาย หยัน รัฐบาลจะอยู่รอดปี 68 หรือเปล่าก็ไม่รู้

วันที่ 6 มกราคม 2568 นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แถลงที่รัฐสภา ว่า จุดยืนของตนคือขอคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (6) ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน เรื่องการออกเสียงรับหลักการวาระแรกและเสียงเห็นชอบในวาระสาม ที่เดิมให้ใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ แต่ร่างที่แก้ไขใหม่ คือได้เสนอให้ตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียงเห็นร่วมด้วยของ สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และเพิ่มเติมด้วยเสียงเห็นชอบจาก สส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แทน รวมถึงการตัดเงื่อนไขการนำไปออกเสียงประชามติ ก่อนการทูลเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในมาตรา 256 (8)

ก่อนจะระบุต่อไปว่า ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขในมาตรานี้ เพราะเป็นการตัดทอนอำนาจของ สว. และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ที่บัญญัติให้ สว. มีหน้าที่และอำนาจกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎร อาจเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งขึ้นระหว่างสองสภา ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญมาตรา 156 (15) เดิมได้บัญญัติชัดเจนให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ต้องกระทำร่วมกันของรัฐสภา

นพ.เปรมศักดิ์ ยังกล่าวย้ำด้วยว่า ที่ไม่เห็นด้วยเพราะต้องไปแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาล หรือองค์กรอิสระ ดังนั้น จึงจะต้องไปแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เห็นควรว่าไม่ควรไปแตะต้อง เพราะจะสร้างความแตกแยกขึ้นในชาติบ้านเมือง ทั้งนี้ ตนอยากให้เห็นความสำคัญของเรื่องปากท้องพี่น้องประชาชนก่อนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณี สว. ที่มีความเห็นต่างกันในการแก้ไข นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า เท่าที่ฟังเสียงส่วนใหญ่จากการเปิดประชุม สว. วันแรกของปี 2568 สว. ส่วนใหญ่เห็นตรงกันที่จะไม่เห็นด้วยให้แตะหมวด 1 หมวด 2 ไม่ว่าจะถูกเสนอโดยพรรคการเมืองใดก็ตาม

...

“ผมอยากจะฝากว่า การกระทำอะไรที่รีบร้อนมักส่งผลเสีย อย่างก่อนปีใหม่ที่บอกว่าทำบาปมา 1 ปี แล้วสวดมนต์ข้ามปี 1 คืน ก็ต้องมาขอโทษแล้วเกิดประโยชน์อะไรต่อบ้านเมือง ผมเห็นใจสมาชิกรัฐสภาที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตรงกับความต้องการที่ตัวเองมีจุดยืน แต่ก็ต้องฟังจุดยืนของทุกส่วน เพราะสมาชิกวุฒิสภาก็เป็นสมาชิกรัฐสภาเช่นกัน ส่วนตัวผมเห็นด้วยกับประชามติชั้นเดียว ไม่ใช่ 2 ชั้น เพราะเศรษฐกิจมันแย่อยู่แล้ว การทำประชามติ 1 ครั้ง ต้องเสียเงิน 2,000 ล้านบาท จึงไม่อยากให้เอาคำพูดที่ว่าจะไม่ทันการเลือกตั้งปี 2570 มาเป็นหลัก เพราะเห็นว่าสถานการณ์ตอนนี้รัฐบาลจะอยู่รอดตลอดปี 2568 หรือไม่ยังไม่ทราบ”