ในงานสัมมนาขึ้นปีที่ 44 ของ วารสารการเงินธนาคาร ในหัวข้อ Thailand Next Move 2025 เรื่อง “Resiliency for an Uncertain World : รับมือบริบทโลกใหม่ที่ไม่นิ่ง” เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ณ โรงแรมคาร์ลตัน แบงคอก สุขุมวิท ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายด้านการเงิน : การสร้าง Resiliency for an Uncertain World” โดยระบุว่า สิ่งที่จะเจอในปี 2568 คือ “ความไม่แน่นอนสูง” และมีผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึง แม้จะพอรู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่ผลที่จะตามมากลับมองได้ยากมาก
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า “ความเสี่ยง” เป็นสิ่งที่ยังพอคาดการณ์ได้ เช่น ราคานํ้ามัน ข้อดีของความเสี่ยงคือ การดูออกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมาจากอะไรบ้าง โอกาสที่จะเกิดมีเท่าไหร่ แต่ “ความไม่แน่นอน” เป็นสิ่งที่ระบุได้ยากว่าจะมาจากไหนบ้าง
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า “ความไม่แน่นอน” ที่จะได้เห็นในปี 2568 เรื่องแรกคือ โลกจะแบ่งขั้วกันมากขึ้นและยังดูไม่ออกว่า ผลจากการแบ่งขั้วจะมาเร็วและแรงเพียงใด โดยเฉพาะการกีดกันทางเทคโนโลยี แม้จะแยกออกจากกัน แต่ supply chain ยังผูกกันค่อนข้างสูง ทำให้การค้าโลกจะได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจประเทศหลัก ไม่ได้ดำเนินไปในทางเดียวกัน เพราะการฟื้นตัวไม่เท่ากัน เช่น สหรัฐฯ เศรษฐกิจดูดีตลาดทุนดูดี แต่รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามา ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
เรื่องแรกที่พอจะดูออกคือ “ภาษีนำเข้า” ที่จะมีผลกระทบต่อการค้าขาย เรื่องที่สองคือ “นโยบายการลดภาษี” ที่อาจนำไปสู่การขาดดุลการคลังของสหรัฐฯสูงขึ้น เรื่องที่สามคือ การกวาดล้างคนต่างชาติให้ออกจากสหรัฐฯ
...
“ทุกนโยบายที่จะเกิดขึ้น ล้วนทำให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯสูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจจะไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้”
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า การแบ่งขั้วของโลกที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เกิดขึ้นควบคู่กับเศรษฐกิจจีนที่เติบโตช้า จนทำให้มีการระบายสินค้าจีนออกมาในตลาดโลกและเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก จนเริ่มส่งผลกระทบการผลิตของไทย (ปี 2566 ไทยนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้นเป็น 71,121 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 2.48 ล้านล้านบาท ไทยขาดดุลการค้าจีนเกือบ 1 ล้านล้านบาท)
“การบริโภคและการผลิตของไทยเริ่มไม่ไปในทิศทางเดียวกัน จากอดีตที่ การบริโภคเติบโตเฉลี่ย 1.8% การผลิตเติบโต 1.6% แต่เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา การบริโภคเฉลี่ยอยู่ที่ 2.1% แต่การผลิตเติบโตเพียง 0.6% เป็นการสะท้อนกลับมาว่า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ท่ามกลางการนำเข้าสินค้าจีนที่เพิ่มขึ้น จะยิ่งทำให้มีการนำเข้าสินค้าจีนมากขึ้นไปอีก ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยมากขึ้น และ กระทบไปถึงกลุ่มสินเชื่อ ทำให้การตั้งหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นด้วย”
เห็นไหมครับ สินค้าจีนที่รัฐบาลปล่อยให้ทะลักเข้ามาขายในเมืองไทย รถไฟฟ้าไม่ต้องเสียภาษี ไม่เพียงทำลายตลาดสินค้าไทย แต่ยังทำลายภาคการผลิตของไทยด้วย ส่งผลกระทบไปถึงระบบการเงินเป็นลูกโซ่ ทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นจากธุรกิจที่แข่งกับสินค้าจีนไม่ได้
ดร.เศรษฐพุฒิ ได้กล่าวถึง การสร้าง Resiliency ว่า คำว่า Resiliency ไม่ได้มีความหมายแค่ เสถียรภาพ (stability)แต่มีความหมายกว้างกว่านั้นคือ ทนทาน+ยืดหยุ่น+ล้มแล้วลุกเร็ว การสร้าง Resiliency ต้องมี 3 องค์ประกอบคือ 1)เสถียรภาพ (stability) 2)มีภูมิคุ้มกันทางการเงิน (buffer) และทางเลือกอื่นๆ (option) 3)เติบโตจากโอกาสใหม่ (digital & transition) เรื่องนี้ผมคิดว่าไม่เพียงเป็นหน้าที่ของ “แบงก์ชาติ” ฝ่ายเดียวแต่เป็น “หน้าที่ของรัฐบาล” ด้วย ที่จะต้องสร้าง “Resiliencyระดับชาติ” ขึ้นมาป้องกัน “ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของโลก” ที่จะรุนแรงขึ้นในปีหน้า และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม