รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ชี้ สุราชุมชนต้องขออนุญาตหลายขั้น ตรวจสอบความสะอาดปลอดภัย เสียภาษีถูกต้อง สร้างความมั่นใจผู้บริโภค เตือน บริโภคเหล้าเถื่อนเสี่ยงถึงชีวิต
วันที่ 3 ธันวาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรีประยุทธ เสตถาภิรมย์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ผู้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “สุราชุมชนไม่สะอาดจริงดิ?” ผ่านงานเมรัยไทยแลนด์ ณ ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ เป็นวันสุดท้าย กล่าวถึงเส้นแบ่งระหว่างสุราชุมชนกับเหล้าเถื่อนแตกต่างอย่างไร ว่า ขออธิบายง่ายๆ คือคนอยู่ในระบบ กับนอกระบบกรมสรรพสามิต ซึ่งผู้ประกอบการในระบบจะมีเรื่องการจดทะเบียน ขออนุญาตการผลิต ขออนุญาตจำหน่าย มีการส่งตัวอย่างวิเคราะห์ มีการเสียภาษี เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ขณะที่สุราเถื่อนคือไม่เข้าระบบ เป็นการผลิตที่มีความสุ่มเสี่ยง
การตรวจสอบการสุราชุมชน สุราแช่ ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง จะมีการดำเนินการตามวิธี ส่วนกรมสรรพสามิตก็จะตรวจสอบความปลอดภัยก่อนจำหน่ายสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต้องไม่มีสารอันตรายต่างๆ จะมีความปลอดภัย ขณะที่สุราเถื่อน หรือซุ้มยาดอง อาจจะมีสารปนเปื้อนหรือความไม่ปลอดภัยได้ รวมถึงมองว่าเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบการด้วย
...
รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ตอบคำถามในประเด็นเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย กระบวนการ เอาผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบ อาทิ ข้าว หรือ ผลไม้ต่างๆ เข้ามาตรวจ แนะนำว่าต้องทำความสะอาดเพื่อลดการปนเปื้อน หลังจากนั้นจะมีตรวจสอบคุณภาพและกระบวนการ ขณะที่ก่อนออกสู่ตลาดก็ต้องตรวจสอบว่าไม่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค พร้อมเน้นย้ำว่าความสะอาดในขั้นตอนต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ สามารถนำชูเป็นจุดขายได้ ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในตัวสินค้า อีกทั้งจะช่วยลบมายาคติในทางลบได้ ซึ่งผู้ประกอบการและภาครัฐต้องร่วมกัน
สำหรับการส่งตัวอย่างมายังกรมสรรพสามิต ใช้เวลาไม่นานในการตรวจสอบ และกรมสรรพสามิตจะมีหน่วยงานส่วนกลาง และสรรพสามิตภาค สรรพสามิตพื้นที่ มีทีมงานเข้าไปยังโรงงานสุราชุมชนต่างๆ ติดตามการผลิต กระบวนการ ให้ความแนะนำ เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่ามีความปลอดภัย สะอาด ก่อนออกจำหน่ายผู้บริโภค
ว่าที่ร้อยตรีประยุทธ เผยต่อไปถึงเรื่องร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต หรือ กฎหมายสุราชุมชน ว่าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาหลายเรื่อง ต้องแน่ใจว่ามีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย ป้องกันเรื่องการปนเปื้อน การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างศักยภาพสุราชุมชนให้เปิดขึ้น เชื่อว่าจะตอบโจทย์ความต้องการคนไทย และยังสามารถขยายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ในอนาคต ขยับไปยังระดับประเทศ และระดับโลกได้ เหมือนกับสาเกของญี่ปุ่น
“ประเทศไทยเองผมคิดว่าความสะอาดและความปลอดภัยเป็นจุดขายอันหนึ่ง บวกกับการสร้างอัตลักษณ์ของสุราชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างแบรนดิ้ง การเล่าเรื่องผ่านประวัติศาสตร์ เพราะสุราชุมชนหลายจุดจะมีประวัติศาสตร์ที่มาต่างกัน เราสามารถผสมผสานทำแบรนดิ้งได้ เพื่อตอบโจทย์เรื่องของผู้บริโภค และแพ็กเกจจิ้งที่สวยงามก็สามารถแข่งขันกับสุราต่างประเทศได้”
พร้อมยกตัวอย่างโรงงานผลิตสาเกที่ญี่ปุ่นที่เคยไปดูมา มีทั้งข้าวที่ปลูกเอง น้ำมาจากแหล่งธรรมชาติ เอาเข้ามาที่โรงงาน สถานที่มีความสะอาด เครื่องจักรที่ทันสมัย ขั้นตอนต่างๆ สะอาด และบางส่วนของโรงงานยังทำเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วย เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมานานนับร้อยปี เป็นการขับเคลื่อนชูสุราชุมชน พัฒนาศักยภาพ สร้างแบรนดิ้ง
รองอธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงข้อกฎหมายในการเป็นผู้ประกอบการผลิตสุราชุมชน ว่า ต้องมาขออนุญาตผลิต ส่งผลิตภัณฑ์วิเคราะห์ตัวอย่างว่าปลอดภัย ต้องขออนุญาตจำหน่าย จัดทำบัญชี มีวัตถุดิบอะไรบ้าง ผลิตเท่าไหร่ จำหน่ายเท่าไหร่ มีสลากสุรา เพื่อสร้างความมั่นใจผู้บริโภค ซึ่งการมีสแตมป์หมายความว่าเสียภาษีแล้ว ส่วนการบริโภคสุราเถื่อนเสี่ยงความปลอดภัย อย่าไปให้ความสนใจหรือซื้อสุราเถื่อน
ส่วนประเด็นปริมาณเมทานอล ว่าที่ร้อยตรีประยุทธ กล่าวว่า ส่วนใหญ่เท่าที่เจอเมทิลแอลกอฮอล์เอาไปใส่สุรา อาจเป็นไปได้ว่าไม่รู้ เพราะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นเมทิลแอลกอฮอล์หรือเอทิลแอลกอฮอล์ แต่ในกรณีที่ตั้งใจก็มี ซึ่งส่วนใหญ่ที่ใส่จะเป็นผู้ทำสุราเถื่อน แต่สุราชุมชนจะอยู่ในระบบ ผู้ผลิตต้องคำนึงความปลอดภัยสินค้าและผู้บริโภค ต้องลดการปนเปื้อน ปริมาณต้องอยู่ในระดับต่ำไม่กระทบผู้บริโภค พร้อมฝากถึงผู้บริโภคให้ดูสแตมป์สรรพสามิต ดูสลากสุรา ก่อนบริโภค แต่ทั้งนี้ ก็ยอมรับว่ามีสแตมป์ปลอม ต้องดูให้ดี เพราะการบริโภคสุราเถื่อนอาจเสี่ยงถึงชีวิต
ในตอนท้าย รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ยังระบุด้วยว่า เราต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน ถ้าผู้ประกอบการเพิ่มขนาดกำลังการผลิตได้ จะสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงต้องคำนึงว่าจะบริโภคอย่างไรไม่สร้างผลกระทบ กินแล้วไม่ควรขับรถ จะช่วยลดอุบัติเหตุ ลดผลกระทบสังคม ช่วยสร้างภาพที่ดี การออกกฎหรือมาตรการต่างๆ อาจจะผ่อนคลายลงได้.