“นิกร จำนง” เผย ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ให้ สส.-สว. จ่อบรรจุเข้าระเบียบวาระหลังเปิดสมัยประชุม ย้ำ ไม่ใช่กฎหมายการเงิน ลดจาก 180 เหลือ 10 วันไม่ได้

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างรายงานของ กมธ. โดยคาดว่าจะเสนอรายงานต่อ สส. และ สว. ในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ เพื่อให้สามารถบรรจุระเบียบวาระการประชุมของแต่ละสภาเมื่อเปิดสมัยประชุม คาดว่าวุฒิสภาจะพิจารณารายงานของ กมธ. ในวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ส่วนสภาผู้แทนราษฎรคาดว่าจะพิจารณาในวันที่ 18 ธันวาคม 2567

ทั้งนี้ เชื่อว่ารายงานจะได้รับความเห็นชอบจากฝั่งวุฒิสภา เพราะเป็นหลักการ 2 ชั้น ตามร่างที่วุฒิสภาได้แก้ไขไว้เดิม แต่ตนเชื่อว่าในฝั่งสภาผู้แทนราษฎรจะไม่ให้ความเห็นชอบแน่ เพราะจะถูกยับยั้งไว้ก่อน 180 วัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 137 เพื่อที่ทางสภาฯ จะได้ยกร่างฉบับของสภาฯ ขึ้นมาพิจารณาใหม่ แล้วยืนยันเพื่อให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว โดยไม่ต้องอาศัยเสียงวุฒิสภาแต่อย่างใด จากนั้นจะดำเนินการตามมาตรา 81 เพื่อประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

นายนิกร ระบุต่อไปว่า ตามที่ได้มีความคิดเห็นที่จะนำเสนอให้ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับการเงิน เพื่อลดเวลาการยับยั้งไว้จาก 180 วัน ให้เหลือเพียงแค่ 10 วันนั้น ส่วนตัวเห็นว่าถ้าทำได้จริงก็จะเป็นเรื่องดี เพราะขณะนี้จากสภาพบังคับของกฎหมายประชามติตามที่เป็นอยู่ จะทำให้การทำประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งแรกไม่ได้ล่าช้าไปเพียง 180 วันเท่านั้น หากแต่จะต้องรวมเอาเวลาของขั้นตอนอื่นๆ ตามกฎหมายอื่นด้วย จะทำให้ระยะเวลาต้องยืดไปอีกเป็นปี คาดว่าจะสามารถทำประชามติครั้งแรกได้ช่วงเดือนมกราคม 2569 ไม่สามารถจะลดห้วงเวลาโดยอาศัยช่องทางว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินได้ ถ้าฝืนทำก็อาจสุ่มเสี่ยงถูกร้องว่า ออกกฎหมายโดยมิชอบได้

...

“จนถึงขณะนี้เป็นกรณีเป็นที่เด็ดขาดแล้วว่าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงินตามที่สภาฯ แจ้งต่อวุฒิสภา ตามมาตรา 136 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญ สภาฯ จะหยิบยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ต้องยับยั้ง ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยการเงินขึ้นพิจารณาใหม่ หลังพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่สภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ กรณีจึงล่วงพ้นช่วงเวลาในการสงสัยว่า เป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่นั้นไปแล้ว ที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะ จึงไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยอีก หากมีการดำเนินการดังกล่าว อาจส่งผลถึงกระบวนการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้”