“นพดล” วอนหยุดปั่นกระแสไทยเสียเกาะกูด ลั่น เป็นคนปกป้องชาติ ไม่ได้ขายชาติ ฝากคนบิดเบือนใส่ร้ายขอให้ยุติได้แล้ว
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 นายนพดล ปัทมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการปั่นกระแสว่าไทยจะเสียเกาะกูด และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU 44 รวมทั้งพาดพิงตนให้คนเข้าใจผิดเรื่องเขาพระวิหารแบบแผ่นเสียงตกร่อง ว่า ตนขอใช้สิทธิถูกพาดพิง คนที่เป็นห่วงโดยสุจริตก็มี และบางคนเป็นคนที่เคยร่วมจุดกระแสคลั่งชาติในปี 2551 โดยใช้ความเท็จใส่ร้ายว่าตนซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ทำให้ไทยเสียปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา ทั้งๆ ที่ไทยยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาตามคำตัดสินศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2505
ต่อมาในปี 2551 กัมพูชาเอาตัวปราสาทและพื้นที่ทับซ้อนไปขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่รัฐบาลและตนเจรจาจนกัมพูชายอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออก ยอมขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทซึ่งเป็นของเขามาเกือบ 50 ปีแล้ว แต่ตนถูกโจมตีใส่ร้ายเท็จว่าขายชาติและไปฟ้องเอาผิด ซึ่งต่อมาในปี 2558 ศาลฎีกาก็ได้พิพากษายกฟ้องตน ซึ่งในคำพิพากษาก็ได้ระบุว่าสิ่งที่ตนทำถูกต้องและประเทศจะได้ประโยชน์จากการกระทำของตน
“ข้อเท็จจริงคือผมไม่ได้ขายชาติ แต่คือคนที่ปกป้องชาติ แต่คนบางกลุ่มยังไม่สำนึกว่าการจุดกระแสคลั่งชาติเรื่องเขาพระวิหารในปี 2551 ทำให้มีการปะทะตามแนวชายแดน มีทหารเสียชีวิต และทำให้ในปี 2554 กัมพูชากลับไปศาลโลกอีกครั้งหนึ่งเพื่อยื่นตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสื่อมทรามลงในเวลานั้น ถามว่าคนเหล่านี้จะรับผิดชอบอย่างไร”
...
ส่วนประเด็นที่เรียกร้องให้ไทยยกเลิก MOU 44 นายนพดล ระบุว่า คำถามคือถ้าจะทำให้ไทยเสียหายจริง นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นที่ไปลงนาม MOU 44 จะไปเซ็นได้อย่างไร นอกจากนั้น มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและกฎหมาย 3 เรื่องใหญ่ที่ต้องตอบ คือ
1. การกล่าวหาว่า MOU 44 จะทำให้เสียเกาะกูดนั้น ก็ไม่จริง เกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ไม่มีใครสามารถยกเกาะกูดให้กัมพูชาได้ เกาะกูดเป็นอำเภอหนึ่งของไทย และไปเที่ยวได้ตลอด
2. กล่าวหาว่า MOU 44 ไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศ และจะทำให้ไทยเสียสิทธิทางทะเล ก็ไม่เป็นความจริงอีก เนื่องจากเนื้อหาของ MOU 44 ไม่ได้ยอมรับเส้นที่กัมพูชาลากแต่อย่างใด เพราะถ้ายอมรับแล้วเราจะไปเจรจากันทำไม โดยเฉพาะที่ต้องเน้นคือเนื้อหาในข้อ 5 ของ MOU 44 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงเรื่องการแบ่งเขตพื้นที่ทางทะเล ให้ถือว่า MOU 44 และการเจรจาตาม MOU 44 จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา
3. ส่วนที่กล่าวหาว่ารัฐบาลนี้มุ่งแต่จะเจรจากับกัมพูชาเพื่อขุดน้ำมันและแก๊สในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนก่อน โดยไม่สนใจพื้นที่ทางทะเลนั้น ก็เป็นข้อกล่าวหาที่ไร้มูลความจริง เนื่องจากไม่สามารถทำได้ตามกรอบ MOU 44 เพราะ ก) การเจรจาแบ่งพื้นที่ทางทะเล และ ข) การเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วมหรือ JDA ต้องทำคู่ผูกติดกันไป แยกจากกันไม่ได้ (indivisible package) ตามที่ระบุในข้อ 2 ของ MOU 44
“ผมสงสัยว่ารัฐบาลที่ผ่านมาก็เจรจาโดยใช้ MOU 44 ไม่เห็นมีการประท้วง ผมเห็นว่าพี่น้องคนไทยควรได้รับทราบข้อเท็จจริง ไม่ใช่การให้ความเห็นที่ไม่ถูกต้อง คนที่แสดงความห่วงใยโดยสุจริต รัฐบาลคงพร้อมรับฟัง ส่วนคนที่บิดเบือนใส่ร้ายก็ขอให้ยุติได้แล้ว บางคนเคยร่วมจุดกระแสคลั่งชาติเรื่องเขาพระวิหาร ยังไม่สำนึกรับผิดชอบต่อความเสียหายที่ทำขึ้น ผมเคยถูกใส่ร้ายเรื่องเขาพระวิหาร ทำลายผม ครอบครัวผม แต่พอศาลฎีกาท่านยกฟ้องผม และคำพิพากษาระบุว่าสิ่งที่ผมทำถูกต้องและประเทศจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่ผมทำ กลับเงียบหายไปหมด”