“อนุทิน” ยัน ใครก็ครอบงำภูมิใจไทยไม่ได้ หลัง กกต. รับคำร้องยุบเพื่อไทย-พรรคร่วม เผย ดินเนอร์เย็นนี้ขึ้นอยู่กับนายกฯ มั่นใจ ปมแก้รัฐธรรมนูญ-นิรโทษกรรม ไม่ใช่ชนวนขัดแย้ง

วันที่ 21 ตุลาคม 2567 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีรายงานว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับคำร้องยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาล ยินยอมให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำพรรค ว่า ในส่วนของ กกต. ใครจะไปร้องเรียนอะไรก็ต้องรับไว้ก่อนอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน ฉะนั้น หากจะต้องมีการไปไต่สวน สอบสวน หรือให้ปากคำต่างๆ ตนก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือทุกอย่าง

“แต่ในเรื่องของคำว่าครอบงำ ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะพรรคภูมิใจไทยถ้าจะมีการครอบงำจะต้องครอบงำโดยหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหาร ซึ่งเราไม่มีใครคนใดคนหนึ่งสามารถที่จะตัดสินใจแทนพรรคได้ แม้กระทั่งตัวหัวหน้าพรรคเอง ทุกอย่างต้องออกมาจากการประชุมและผ่านมติของกรรมการบริหารพรรคอย่างเป็นทางการ”

ฉะนั้น ในกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลถูกร้องเรียนไปด้วย ตนมั่นใจได้เลยว่าทุกพรรคร่วมรัฐบาลมีหลักการที่เหมือนกัน คือโดยธรรมชาติ ไม่มีทางให้ใครเข้ามาครอบงำแน่นอน โดยเฉพาะคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องการตัดสินใจยกมือสนับสนุนให้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ก็เป็นไปตามมติของกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยทุกประการ จึงยืนยันได้ว่าเป็นไปตามครรลองที่เคยกล่าวไว้เกี่ยวกับพรรคการเมืองที่มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลว่า คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีจำนวนที่นั่งสูงสุดในสภาผู้แทนราษฎร และเป็นแคนดิเดตที่พรรคนั้นๆ เสนอชื่อให้พี่น้องประชาชนได้พิจารณาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง

...

นายอนุทิน เผยต่อไป หลังจากที่ทราบว่า นายเศรษฐา ทวีสิน ต้องยุติบทบาทนายกรัฐมนตรีไป เราก็ได้มีการประชุมและหารือกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคแกนนำแจ้งมาว่ามีความประสงค์ที่จะเสนอ นางสาวแพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาลทุกคนจึงยินดีที่จะให้การสนับสนุน ดังนั้น การที่จะบอกว่ามีคนอื่นมาครอบงำ ตนมองว่าเป็นความคิดที่ไม่ประสงค์ดีกับรัฐบาล แต่เป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายตรงข้ามจะต้องพยายามหาเหตุอะไรต่างๆ ขึ้นมาเพื่อทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน

“ด้วยเหตุนี้จึงมั่นใจว่าทำไม่ได้หรอก เพราะรัฐบาลนี้เริ่มอย่างชัดเจนและมีการหารือประชุมกันอย่างจริงจังในวันที่ 15 สิงหาคม ที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดไปยังอาคารชินวัตร 3 ซึ่งเป็นที่ทำการของพรรคเพื่อไทยชั่วคราว ภายหลังจากที่ นายเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2-3 วัน ตรงนี้จึงเป็นจุดเริ่มของพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ ฉะนั้น อย่าไปคิดอะไรให้มันสับสนอลหม่าน”

ส่วนการดินเนอร์ร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นเย็นนี้ พรรคภูมิใจไทยจะหยิบยกประเด็นอะไรขึ้นมาหารือบ้าง นายอนุทิน ระบุว่า ต้องแล้วแต่เจ้าภาพ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เชิญให้พรรคร่วมไปหารือร่วมกัน จึงคิดว่าท่านคงมีประเด็นอะไรที่อยากจะพูดคุย แต่หากมีประเด็นใดที่สามารถต่อยอดไปในประเด็นอื่นก็ต้องดูบรรยากาศด้วย ส่วนตัวจึงคิดว่าน่าจะเป็นการพูดคุยอย่างฉันท์ผู้ร่วมงานที่จะเดินหน้าบริหารประเทศร่วมกัน

สำหรับประเด็นที่มองว่าจะมีการพูดคุยเรื่องร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมกับแก้รัฐธรรมนูญที่ยังมีความเห็นต่างด้วยหรือไม่ นายอนุทิน ย้ำว่า แต่ละพรรคการเมืองมีเจตนารมณ์และมีหลักข้อคิดต่างๆ ในเรื่องนี้อยู่แล้ว เราก็อาจจะนำเอาขึ้นมาหารือกันว่าแต่ละคนมีความเห็นและมีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง เพราะหากกฎหมายสำคัญๆ เข้าไปควรที่จะมีการหารือกันก่อนจะได้ไม่ขัดแย้งกัน ก่อนกล่าวต่อไปว่าเรื่องของสภาก็คือเรื่องของสภา อย่าเอามารวมกับเรื่องของรัฐบาล เพราะเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินพวกเราพร้อมที่จะสนับสนุนอยู่แล้ว แต่เรื่องข้อกฎหมายเห็นต่างกันได้ จากนั้นก็ค่อยมาหารือกันเพื่อแสวงหาความร่วมมือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ไม่เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของพรรคหรือแนวทางที่ยึดถือปฏิบัติกันมา

นอกจากนี้ นายอนุทิน ยังยืนยันต่อไปว่า เรื่องนี้ไม่มีความขัดแย้งอยู่แล้ว แต่ความเห็นต่างมันต้องมี หากทำงานแล้วไม่เห็นต่างกันเลย ก็จะเดินหน้าทำงานไม่ได้ ต้องฟังแล้วเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชนมาเป็นตัวตัดสิน ไม่ใช่เห็นพ้องกันหมด มิเช่นนั้นจะเรียกว่าฮั้ว