ผ่านพ้นไปแล้วการโยกย้ายแต่งตั้ง 3 เหล่าทัพ เหลืออีก 1 ทัพคือ “ตำรวจ” ซึ่งมีนัดหมายว่าจะประชุม ก.ตร.วันที่ 7 ต.ค.67

มีนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นประธาน ก.ตร.นั่งหัวโต๊ะเพื่อโยกย้ายแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่และข้าราชการตำรวจชุดใหญ่

เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีการจับตามองกันว่ารัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไรเพราะเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจกับงานสำคัญที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน

แน่นอนว่าบรรดากุนซือต้องให้คำแนะนำและแนวทางว่าจะเอาอย่างไร จะให้คนไหนขึ้นมาเป็นเจ้ากรมปทุมวันซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญของรัฐบาลในการบริหารประเทศ

“ตำรวจ” ไทยนั้นแตกต่างกับต่างประเทศค่อนข้างชัดเจนเพราะถูกวางบทบาทให้เป็น “กองทัพที่ 4” ไม่ใช่แค่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เท่านั้น

รัฐบาลจึงต้องควบคุมให้อยู่ในกำมือเพราะดูแลทุกข์สุขของประชาชนทั่วประเทศและมีศักยภาพค้ำจุนอำนาจของรัฐบาลด้วย

ผบ.ตร.จึงต้องเป็น “คน” ของรัฐบาล!

รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีได้เกิดปัญหาในแวดวงตำรวจค่อนข้างหนักตั้งแต่การแต่งตั้ง ผบ.ตร.ที่ไม่ใช่อาวุโสอันดับ 1 แต่ไม่รู้ทำไมประธาน ก.ตร.ไปเลือกคนที่อาวุโสน้อยกว่า

น่าจะมี “ใบสั่ง” มากกว่า

จากนั้นก็เกิดปัญหาตามมาจนต้องย้าย ผบ.ตร. และรอง ผบ.ตร.อีกคนหนึ่งไปประจำทำเนียบเพราะเกิดความขัดแย้งและพัวพันไปถึงเว็บพนันออนไลน์

พูดง่ายๆว่าวงการตำรวจวุ่นวายอย่างหนัก!

จนสุดท้ายให้ ผบ.ตร.กลับคืนตำแหน่งเดิมและให้รอง ผบ.ตร.ออกจากราชการไว้ก่อนเรื่องจึงสงบลง

วันนี้มีนายตำรวจที่เป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.อยู่ 3 คนคือ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.อาวุโสที่ 1 และรักษาการ ผบ.ตร.อยู่

...

พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจ และ พล.ต.อ.ธนา ชูวงษ์ รอง ผบ.ตร.

คนไหนจะได้รับการคัดเลือกให้เป็น ผบ.ตร.จึงอยู่ที่การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี และ ก.ตร.ทั้งคณะ

“บิ๊กต่าย” อาวุโสสูงสุดเต็ง 1 และมีความเหมาะสมที่สุด...

แต่ก็มีข่าวว่าอาจจะถูกสอดแทรกก็ได้หากฝ่ายการเมืองต้องการให้คนในเครือข่ายขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้

เรื่องราวในแวดวงตำรวจนั้นถ้ารัฐบาลไม่อยากให้มีปัญหาก็ควรที่จะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์โดยยึดอาวุโสเป็นประเด็นสำคัญก็ไม่น่าจะมีปัญหา

แต่ถ้าการเมืองชอบ “ซุกซน” ต้องการตั้งคนของตัวเองก็จะเกิดปัญหาแน่ ยิ่งการเมืองในปัจจุบันว่าด้วยเรื่อง “จริยธรรม” กำลังร้อนแรง

ถ้าไปทำอย่างนั้นอาจจะถูกกล่าวโทษได้

ว่าไปแล้ว “ตำรวจ” นั้นคือปัญหาของประเทศอย่างหนึ่งถ้าไม่คิดที่จะแก้ไขด้วยการปฏิรูปขนานใหญ่

ก็อย่าไปทำให้มันมีเรื่องมีราวขึ้นอีก

เพราะ “ตำรวจ” นั้นจริงๆก็กลัวการเมืองแต่ก็พร้อมที่จะชนกับการเมืองได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติและกฎกติกาดีที่สุด

ให้ “ตำรวจ” ที่ดีได้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนดีกว่า!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม