การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เถียงกันหน้าดำหน้าแดงอยู่ในขณะนี้ จะแก้ไขได้จริงหรือไม่ คอการเมืองส่วนใหญ่ฟันธงว่าแก้ไขยาก ถ้าจะแก้ไขทั้งฉบับจะต้องให้ประชาชนลงประชามติ “เห็นชอบ” ถึง 3 ครั้ง ถ้าจะแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 256 ว่าด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องลงประชามติและขอความเห็นชอบวุฒิสภา
จะต้องมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เห็นชอบด้วยอย่างน้อย 1 ใน 3 จากทั้งหมด 200 เสียง คือจะต้องมี สว.เห็นชอบอย่างน้อย 67 เสียง มิฉะนั้นร่างแก้ไขจะตกไป แม้จะได้รับความเห็นชอบจาก สส.ทั้งสภา 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (2560) ตัดสินกันด้วยเสียงข้างน้อยคือผู้ชนะ
เป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากประชาชน เพราะ สว.มาจากการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม แต่มีผู้สงสัยว่ามาจากการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพจริงหรือไม่ หรือว่ามาจาก “การจัดตั้ง” หรือ “การแทรกแซง” ของกลุ่มสีใด ตามที่นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ “ทนายตั้ม” เข้าไปรู้เห็นมาด้วยตนเอง
ทนายตั้มไม่ได้เข้าไปสอดรู้ สอดเห็น เหมือนกับ “นักร้อง” คนอื่นๆ แต่เขาเป็นผู้สมัคร สว.ด้วยตนเอง จึงรู้เห็นกระบวนการเลือก สว. ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ คอการเมืองเล่าลือกันว่ามีกลุ่มการเมือง “สายสี” เข้าไปแทรกแซงในการเลือก สว. จนสามารถคุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา
ถ้ามีกลุ่มการเมืองบางสี คุมเสียงข้างมากในวุฒิสภาจริง จะเป็นการกระทำผิดร้ายแรง ยิ่งกว่าการฝ่าฝืนจริยธรรมหรือไม่ เพราะสามารถครอบงำนักการเมืองได้เกือบทั้งสภา จนทำให้พรรคการเมืองอื่นๆไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เว้นแต่จะมี สว.อย่างน้อย 67 เสียงเห็นชอบ และถ้าแก้ไขทั้งฉบับ จะต้องให้ประชาชนลงมติถึง 3 ครั้ง ใช้เวลาหลายปี
...
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีการออกแบบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้แก้ไขยาก เพื่อสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่อายุยืนยาว ด้วยกติกาการแก้ไขที่พิกลพิการ และขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ชัดแจ้ง ตัดสินด้วยเสียงข้างน้อยที่ไม่มาจากประชาชน ชัดเจนที่สุดคือการเลือกคณะกรรมาธิการในวุฒิสภา กลุ่มที่มีสีกินเรียบ กมธ. ทั้ง 21 คณะ
จากการสังเกตความเคลื่อนไหวของ สว. น่าจะมี สว.ที่เป็นอิสระ เช่น สว.พันธุ์ใหม่ และพันธุ์อื่นๆ ประมาณ 10 คน จะไปแก้ไขกฎหมายสูงสุดของประเทศได้อย่างไร แม้จะมี สส.ทั้งสภา 500 คน เห็นชอบ เพราะเขาไม่ได้ตัดสินกันด้วยเสียงข้างมาก และไม่ตัดสินด้วยเสียงที่มาจากประชาชน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ที่คุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม