ที่ประชุมวุฒิสภา ตีตกญัตติด่วนด้วยวาจา “อ.นันทนา” ขอให้ตรวจสอบจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีอภิปรายในที่สาธารณะปมยุบพรรคการเมือง ด้วยคะแนน 118 ต่อ 37 เสียง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2 กันยายน 2567 พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดย นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอเรื่องด่วนด้วยวาจา ตามข้อบังคับข้อ 40 (1) เสนอญัตติขอให้มีการตรวจสอบจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลการเสนอญัตติดังกล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งอภิปรายในที่สาธารณะเกี่ยวกับผลการวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 โดยถ้อยคำมีลักษณะส่อเสียด เย้ยหยันพรรคที่ถูกยุบไป พฤติกรรมดังกล่าวถูกสังคมตั้งคำถามถึงจริยธรรม เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการตีความและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มีอำนาจในการตัดสินประเด็นสำคัญทางการเมืองอย่างกว้างขวาง จึงต้องปฏิบัติตนตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างเคร่งครัด ต้องวางตนเป็นกลาง ปราศจากอคติ และเป็นตัวแทนของความยุติธรรมในการแสดงออกทุกกรณี

ทั้งนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งระบุไว้ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ข้อที่ 13 ระบุว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระและปราศจากอคติ ข้อที่ 17 กำหนดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ทำสิ่งใดที่อาจเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์และตำแหน่งของตนเอง นอกจากนี้ในประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อที่ 28 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าผู้พิพากษาไม่ควรแสดงปาฐกถา บรรยาย สอน หรือแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนในลักษณะที่อาจจะกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่และเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา

...

นางสาวนันทนา กล่าวต่อไปว่า การกล่าวถ้อยคำในเวทีสาธารณะที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางตุลาการ จึงไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของบุคคลเท่านั้น แต่ยังสะท้อนปัญหาในระบบการบริหารจัดการอำนาจอธิปไตยและรัฐธรรมนูญ สร้างความขัดแย้งและข้อสงสัยในสังคมถึงความเป็นกลางและความยุติธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่ควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังและรวดเร็วเพื่อรักษาความเชื่อมั่นในระบบตุลาการ สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในสังคม ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงของอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ขอให้ประธานวุฒิสภาอนุญาตให้เสนอญัตตินี้เพื่อให้มีการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภาเป็นการเร่งด่วน เพื่อลงมติและนำข้อเสนอส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการตรวจสอบจริยธรรมของตุลาการกันเองต่อไป

จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้สมาชิกร่วมอภิปราย โดยมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่อมาเวลา 09.58 น. ประธานในที่ประชุมได้ขอมติจากที่ประชุมว่าจะเห็นชอบที่จะให้มีการพิจารณาญัตติด้วยวาจาเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วนหรือไม่ โดยที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบ 118 เสียง (ลงคะแนนด้วยเสียง 1) เห็นชอบ 37 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง เป็นอันว่าที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบให้พิจารณาญัตติด้วยวาจาเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน จึงทำให้ญัตติดังกล่าวตกไป