“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แจงยิบ พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการสังคม หากหยุดพระราชฐานะ จะเป็นอันตรายต่อชาติ ซัด คนบางกลุ่มใช้ความภักดี เป็นข้ออ้างทำรัฐประหาร ชี้แก้ไข ม.112 มีเจตนาดี เพื่อให้ประสานความสัมพันธ์ ประชาชน-สถาบัน
วันที่ 2 สิงหาคม 2567 ที่พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวภายหลังการแถลงคำปิดคดียุบพรรค ว่า ผู้ถูกร้องขอเรียนต่อศาลว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เป็นการนำองค์ประกอบ 2 ประการ กล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตย กับ พระมหากษัตริย์ มาดำรงอยู่คู่กัน กลายเป็นระบอบการเมืองที่โดยหลักการ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ขณะเดียวกันก็มีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของรัฐ ซึ่งมีรูปแบบของรัฐเป็นราชอาณาจักร โดยพระองค์ไม่ทรงใช้อำนาจทางการเมือง และการปกครองด้วยพระองค์เอง ด้วยเหตุนี้ องค์พระประมุขของรัฐจึงดำรงความเป็นกลางทางการเมือง มีพระราชฐานะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ผู้ใดจะละเมิดฟ้องร้องพระองค์มิได้
การประสานสถาบันพระมหากษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยสามารถรักษาคุณค่าพื้นฐานของทั้งสององค์ประกอบได้อย่างสมดุล จึงเป็นโจทย์สำคัญของการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แน่นอนว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในแต่ละประเทศย่อมมีลักษณะไม่เหมือนกันและมิได้มีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว การจัดระเบียบสังคม การออกแบบสถาบันทางการเมือง ระบบกฎหมาย วัฒนธรรม คุณค่าพื้นฐาน ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของแต่ละประเทศนั้น ย่อมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของสังคม
...
ในประวัติศาสตร์ของเรา พระมหากษัตริย์ทรงพระปรีชาในการปรับตัว จนสามารถแผ่พระบารมีปกเกล้ามาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น ความพยายามที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีลักษณะหยุดนิ่ง ตายตัว และต้องเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ย่อมเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของเรา เพราะจะทำให้สูญเสียความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับสมดุลใหม่ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เสียโอกาสที่จะรักษาสิ่งเก่าและเชื่อมประสานกับสิ่งใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์แปลกแยกต่อกัน
การปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจกดปราบ ไม่ว่าจะเป็นการกดปราบโดยใช้กำลัง ไม่ว่าจะเป็นการกดปราบในนามของกฎหมาย มีแต่ต้องสร้างสมดุลให้ได้สัดส่วนเหมาะสมตามยุคสมัยระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ระบอบนี้มั่นคงยั่งยืนด้วยความเชื่อมั่น ศรัทธา และความยินยอมพร้อมใจของประชาชน
ทว่าหลายปีที่ผ่านมา การนำประเด็นเกี่ยวกับความจงรักภักดีมากล่าวหาโจมตีกันในทางการเมือง นำไปสนับสนุนหรือเกี่ยวพันกับการรัฐประหาร ทั้งการรัฐประหารโดยกำลังทหารและโดยกฎหมาย รวมถึงการแสดงความจงรักภักดีอย่างล้นเกิน เพื่ออำพรางการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนอย่างฉ้อฉลของคนบางกลุ่ม ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางการเมืองตามยุคสมัย ได้กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางการเมือง และความรู้สึกนึกคิดแบบใหม่ ซึ่งสังคมไทยในอดีตไม่คุ้นเคย
แต่แทนที่ผู้มีอำนาจจะตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีต และพยายามแสวงหากุศโลบายด้วยสติและปัญญา เพื่อคลี่คลายแรงตึงเครียดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย และสร้างฉันทามติใหม่ที่สอดคล้องกับยุคสมัย กลับเลือกที่จะใช้อำนาจกดบังคับประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในลักษณะเข้มงวดรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
สืบเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องจึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยมีเจตนาที่จะฟื้นฟูสายสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างสมดุลใหม่ที่ได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองพระเกียรติยศแห่งองค์พระประมุขกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาดุลยภาพและความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย
ผู้ถูกร้องขอเรียนต่อศาลว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้ มิใช่ด้วยการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และหลักการคุณค่าพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ในทางตรงข้ามการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะต้องโอบรับความคิดเห็นที่ดำรงอยู่หลากหลายในสังคมอย่างมีภราดรภาพ มีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันอันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีความอดทนอดกลั้นในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยแก้ปัญหาความแตกต่างขัดแย้งในสังคมอย่างมีวุฒิภาวะ ด้วยวิถีทางการเสริมสร้างประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางภายใต้ร่มพระบารมีที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนโดยไม่แบ่งแยก จักเป็นการธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยืนยงสถาพรเยี่ยงนานาอารยประเทศ