การเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่ผ่านมา เป็นครั้งที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านลบและด้านบวก แต่เสียงวิจารณ์ด้านลบอยู่ในระดับฟ้าถล่มดินทลาย ฝ่ายที่มองโลกในแง่ดี มองว่านับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนระดับ “ชาวบ้าน” อาจมีโอกาสเข้าไปนั่งในวุฒิสภาหรือสภาสูง ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่ หรือช่างเย็บผ้า

รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า วุฒิสภามีสมาชิก 200 คน มาจากการเลือกกันเองของบุคคลผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน กฎหมายการเลือก สว.กำหนดให้ 20 กลุ่มอาชีพ มีสิทธิเลือก สว. จึงทำให้ชาวบ้านธรรมดามีโอกาสเข้าไปนั่งในสภาสูง ซึ่งในอดีตมักเป็นสภาเจ้าขุนมูลนาย

แต่กลายเป็น “การเลือก (ตั้ง)” ที่มีช่องโหว่ให้มีการทุจริตมโหฬารที่สุด โดยเฉพาะจากมืออาชีพระดับพรรค การเมือง ผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการจัดตั้งระบบการเลือกตั้งที่มีผู้สมัครแค่ 48,000 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศกว่า 52 ล้านคน เมื่อมาจัดตั้งคนแค่หลักหมื่น พรรคการเมืองจึงเชี่ยวชาญกว่า

ทำไมพรรคการเมืองจึงต้องการมี สว.ในสังกัด ที่สามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ นักวิชาการบางคนตอบว่า พรรคการเมืองต้องการมี สว.เพื่ออำนาจการต่อรองทางการเมือง สว.สามารถทำให้พรรคเล็ก หรือพรรคขนาดกลางในรัฐบาลผสมกลายเป็นพรรคใหญ่ทันที ถ้ามี สว.กว่าครึ่งหนึ่งในวุฒิสภา

การควบคุมสภาสูงได้ จะทำให้พรรคมีอำนาจควบคุมไปถึงองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะวุฒิสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งกรรมการองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น กกต. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) องค์กรอิสระมีอำนาจแค่ไหนย่อมเป็นที่ประจักษ์กันอยู่

แต่อำนาจก็นำมาซึ่งความเสื่อม หากไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และกล้าหาญ ดังที่ปรากฏผลในการสำรวจความเห็นประชาชนของซูเปอร์โพลเมื่อเดือนเมษายน ถามถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้การเมืองร้อนระอุสู่ความขัดแย้งรุนแรงคำตอบคือวิกฤติศรัทธาผู้นำการเมือง กระบวนการยุติธรรมล่มสลาย และความเดือดร้อนของประชาชน

...

แม้แต่ผลการสำรวจล่าสุด มีกว่า 93% สิ้นหวังในองค์กรอิสระ แสดงว่าประชาชนเสื่อมศรัทธาองค์กรอิสระ พรรคการเมืองที่ต้องการคุมวุฒิสภา เพื่อให้มีอำนาจทางการเมืองสูง และเพื่อครอบงำองค์กรอิสระ เป็นการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ ที่ต้องการให้ สว.เป็นผู้แทนชาวไทย ไม่ใช่เพื่อประโยชน์นักการเมือง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม