ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 รับคำร้อง พ.ร.ป.สว. มาตรา 36, 40, 41 และมาตรา 42 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมให้ส่งสำเนาเอกสารหลักฐานมาให้ศาลภายใน 5 วัน นอกจากนี้ศาลยังมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้สมัคร สว. ต้องไม่เคยเป็นผู้สมัครผู้บริหารท้องถิ่น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ กรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 19/2567 และเรื่องพิจารณาที่ 20/2567)

สืบเนื่องจากศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งผู้ฟ้องคดี (นางสาววิเตือน งามปลั่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 899/2567 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 17/2567)

ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 (นายฤทธิชัย ศรีเมือง ที่ 1 ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาประจำอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช นายเฉลิมชัย ผู้พัฒน์ ที่ 2 ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาประจำอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี นายสิทธิชัย ผู้พัฒน์ ที่ 3 ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาประจำอำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี นายจำนอง บุญเลิศฟ้า ที่ 4 ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาประจำอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี และ นายสากล พืชนุกูล ที่ 5 ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาประจำอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช) ในคดีหมายเลขดำที่ 812/2567 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา  36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 20/2563)

...

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า เนื้อหาคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีทั้งสองคดีเป็นกรณีโต้แย้งว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ศาลปกครองกลางจะใช้บังคับแก่คดี เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองคดีโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินี้ กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อย คือ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม) มีคำสั่งรับคำร้องทั้งสองไว้พิจารณาวินิจฉัยเฉพาะประเด็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 36 มาตรา 40

วรรคหนึ่ง (3) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3) และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง (3) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ โดยรวมการพิจารณาทั้งสองเรื่องเข้าด้วยกัน และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่ศาลกำหนด และจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ  เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

อนึ่ง ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งมาตรการหรือวิธีการใดๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ายังไม่ปรากฏว่าจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง อีกทั้งหากคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าจะเกิดความเสียหายดังกล่าว ย่อมมีหน้าที่และอำนาจที่จะดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561  ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่กำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังพิจารณาเรื่องพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 15 (24) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 8/2567) ศาลจังหวัดนครนายกส่งคำโต้แย้งของจำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.923/2566 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 14 (24) ที่บัญญัติให้ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่เคยเป็นผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 14 (24) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง