“จิราพร สินธุไพร” เผยประสบการณ์ร่วมคณะติดตาม “เศรษฐา” ในภารกิจเยือนต่างประเทศ ตอกย้ำว่าเป็นสิ่งจำเป็น หลังไทยห่างหายจากจอเรดาร์ของโลกมานาน ชื่นชมนายกฯ จับประเด็นเร็ว ต่อยอดการเจรจาทันท่วงที

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 เวลา 14.00 น. (เวลาท้องถิ่นเมืองปาร์มา ประเทศอิตาลี ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 5 ชั่วโมง นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในการติดตาม นายศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางมาต่างประเทศครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากเปลี่ยนบทบาทจาก สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย

นางสาวจิราพร ระบุว่า เป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขยายโอกาส ดึงการค้าการลงทุนของต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย การมาครั้งนี้ได้เห็นการทำงานของนายกรัฐมนตรี เห็นการเจรจาระหว่างผู้นำไทย-ฝรั่งเศส และการเจรจาระหว่างผู้นำกับแบรนด์ระดับโลก เป็นการตอกย้ำว่าการเดินทางมาต่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทยที่ห่างหายจากจอเรดาร์ของโลกมานาน

...

สำหรับการเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นโอกาสในการสื่อสารการดำเนินนโยบายของรัฐบาลให้แต่ละประเทศ และแต่ละบริษัทเข้าใจ เพื่อดึงเม็ดเงินเข้ามาลงทุน ถือเป็นการสร้างโอกาสสำหรับประชาชนคนไทยทุกคน จากการส่งออกสินค้าไทย สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพในประเทศไทย ดังนั้น การนำเสนอการดำเนินนโยบาย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในฐานะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบดูแลกรมประชาสัมพันธ์ถือว่าสื่อมวลชนเป็นส่วนสำคัญในการนำเสนอความตั้งใจของนายกฯ ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจการมาเยือนต่างประเทศ 

“การเดินทางครั้งนี้ ทำให้เห็นสไตล์การทำงานของท่านนายกฯ ซึ่งท่านเป็นคนเข้าใจเนื้อหา จับประเด็นได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาทำความเข้าใจในเวลาสั้นเพียง 2-3 นาที เมื่ออยู่บนโต๊ะเจรจาสามารถพูดถึงเนื้อหาได้เลย และต่อยอดการเจรจาได้อย่างทันท่วงที สามารถพูดคุยได้อย่างราบรื่น”

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้ยกตัวอย่าง เช่น ระหว่างการหารือกับ นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้พูดคุยกันอย่างถูกคอ จนนำไปสู่การหารือแบบสองต่อสอง (four eyes) ทำให้บรรยากาศการพูดคุยกันเพื่อเจริญความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเป็นไปอย่างดีมาก 

ในตอนท้าย นางสาวจิราพร ยังระบุด้วยว่า นายกรัฐมนตรีตั้งใจจะส่งเสริมผ้าไทยให้ไประดับโลก จึงได้นำผ้าขาวม้ามาออกแบบและตัดเย็บด้วยฝีมือช่างไทยเพื่อใส่ร่วมทริปนี้ จะเห็นว่าเป็นสูทที่ใช้ได้ในหลายโอกาส ซึ่งประเทศอิตาลีเป็นผู้นำด้านแฟชั่น จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะต่อยอดความร่วมมือด้านองค์ความรู้แฟชั่น โดยเฉพาะการผลักดันให้ดีไซเนอร์ที่มีศักยภาพของไทยได้มีโอกาสมาเรียนรู้กับบริษัทระดับโลกในอนาคต สอดคล้องกับนโยบาย OFOS (One Family One Soft Power) สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับทุกครอบครัว.