“ต๋อม ชัยธวัช” แนะผลักดันสิทธิการประกันตัวให้เท่าเทียม เสนอรัฐบาลออกนโยบายที่ชัดเจน ยืนยัน พรรคก้าวไกลไม่ได้อยู่เบื้องหลัง ห่วง “ตะวัน” ไม่อยากให้เกิดกรณีแบบ “บุ้ง” ด้านกลุ่มปกป้องสถาบัน จ่อยื่นคัดค้านนิรโทษกรรมคดี ม.112

เมื่อเวลา 20.10 น. วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นพิธีสวดพระอภิธรรม น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ที่วัดสุทธาโภชน์ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ว่า ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรม ควรพิจารณาว่าจะทำอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะในชั้นตำรวจและอัยการ รัฐบาลน่าจะหารือกับฝ่ายอัยการได้ หากมีนโยบายที่ชัดเจน ส่วนบทบาทของรัฐสภา ควรมีการพิจารณากฎหมายบางอย่างที่จะทำให้สิทธิในการประกันตัวได้รับการรับรองจริงๆ ในระยะยาว กรณีผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง โดยเฉพาะคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ปัจจุบันเมื่อถูกจับ ตำรวจแทบไม่ให้ประกันตัว ทั้งยังส่งศาลฝากขังเลย 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลถูกสังคมส่วนหนึ่งมองว่าเป็นเหตุทำให้ น.ส.เนติพร เสียชีวิต นายชัยธวัช ตอบว่า พรรคก้าวไกลยืนยัน ไม่เคยสนับสนุนบุ้งอดอาหารประท้วง เป็นการตัดสินใจของบุ้งเอง กรณีการอดอาหารของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน ก็เช่นกัน เราก็พยายามประสานขอให้ยุติ สุดท้ายเป็นตัวของเขาเองที่ตัดสินใจ ไม่มีใครอยากผลักให้ใครไปอดอาหารจนเสียชีวิต ตอนนี้ต้องมองว่าต้นเหตุของปัญหาอยู่ตรงไหน เหมือนถ้ามองว่าสุภาพสตรีที่ถูกข่มขืนเป็นเพราะแต่งตัวโป๊ แบบนั้นไม่ถูก เช่นเดียวกัน ต้นเหตุของการอดอาหารมาจากปัญหาซ้ำซากของการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว เมื่อถึงจุดหนึ่ง บุ้งคงมองว่าเป็นวิธีการเดียวที่เขาจะทำได้ ตรงนี้ต่างหากที่จะต้องมาพิจารณาว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร 

...

ส่วนเรื่องการอดอาหารของ น.ส.ทานตะวัน ยอมรับว่าต้องเป็นห่วง ไม่มีใครอยากให้เกิดกรณีแบบบุ้งอีก คงต้องช่วยสื่อสารกับตะวัน แต่สิ่งที่จะทำให้ยุติการอดอาหาร คือถ้ามีสัญญาณที่ดีเกิดขึ้น น่าจะเป็นปัจจัยที่ไม่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมแบบนี้อีก ขอให้ดูว่าทำไมบางคนกลับถึงได้รับการดูแลจากราชทัณฑ์และได้รับการปล่อยตัว ทั้งที่ในบางมิติกระทำการรุนแรงกว่าด้วยซ้ำ 

ขณะเดียวกัน พบว่า น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ยืนร่ำไห้กอดกับ นางเงินตา คำแสน  หรือ มานี นักกิจกรรมทางการเมือง ด้วยความเสียใจในงานศพของ บุ้ง

ทางด้านพรรคก้าวไกล ได้เปิดเผยความคิดเห็นของ นายชัยธวัช ในตอนหนึ่งด้วยว่า มีสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ผ่านมาตรการทางนโยบายตั้งแต่วันนี้ โดยไม่ต้องรอกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา ซึ่งที่ผ่านมาคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ถูกชงมาตั้งแต่ชั้นตำรวจเป็นธงเดียวกันทั้งหมดว่าต้องฝากขังและต้องคัดค้านการให้ประกันตัวเท่านั้น ทั้งที่สามารถให้การประกันตัวตั้งแต่ชั้นตำรวจได้

“หากรัฐบาลต้องการลดความตึงเครียดของสถานการณ์ รัฐบาลสามารถออกนโยบายที่ชัดเจนไปที่ชั้นตำรวจได้ ว่าการปฏิบัติต่อประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองจะต้องยึดหลักสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช้อำนาจนอกกฎหมาย ไม่ตีความกฎหมายในทางที่จะนำไปสู่ความตึงเครียดหรือทำให้เกิดคดีความเพิ่มขึ้น รวมถึงไม่นำเหตุการณ์ในอดีตมาตั้งข้อหากับประชาชนเพิ่มเติมอีก”

เช่นเดียวกับในชั้นอัยการ รัฐบาลสามารถส่งความเห็นไปยังองค์กรอัยการได้ ว่าคดีความที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ควรจะมีการกลั่นกรอง พิจารณาเป็นกรณีไป ว่าคดีใดควรหรือไม่ควรที่จะสั่งฟ้องขึ้นไปสู่ชั้นศาล ซึ่งมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ ได้เปิดช่องไว้อยู่แล้ว ให้อัยการสามารถใช้อำนาจสั่งไม่ฟ้องคดีที่เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนได้ หรือกระทั่งในชั้นตุลาการเอง รัฐบาลสามารถมีการหารือกันโดยไม่ใช่การแทรกแซงได้ ว่าแนวทางที่ดีที่สุดในการดำเนินคดีที่มีความละเอียดอ่อนเหล่านี้จะทำอย่างไร เพื่อเป้าหมายในการลดความตึงเครียดของสถานการณ์ทางการเมืองลง

ทั้งนี้ ระหว่างที่เรากำลังรอกฎหมายนิรโทษกรรมให้มีแนวทางที่ชัดเจนออกมา สิ่งเหล่านี้คือนโยบายทางการเมืองที่รัฐบาลสามารถผลักดันได้ในทันที หากเจตจำนงของรัฐบาลคือการคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมืองและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น นี่คือแนวทางที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาลโดยตรง และสามารถทำได้ตั้งแต่วันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมถึงความเคลื่อนไหวของเครือข่ายศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน ที่นำโดย นายอานนท์ กลิ่นแก้ว มีการนัดหมายมวลชนแนวร่วมเดินทางไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 เพื่อคัดค้านกรณีที่ นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร จะนำกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสนอเข้าสู่คณะกรรมาธิการพิจารณากรณีนิรโทษกรรม เพื่อล้างความผิดผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 ซึ่งกลุ่มปกป้องสถาบันเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวเป็นครั้งแรกหลังจากได้เข้าร่วมกับกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการปล่อยตัว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี