“ทวี” รมว.ยุติธรรม เผย รัฐบาลขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของ “บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม” รู้ผลชันสูตรไม่เกิน 7 วัน เตรียมเข้าเยี่ยม “ตะวัน” ด้วยตนเอง พร้อมระบุ นายกฯ สั่งการให้ทำทุกอย่างตรงไปตรงมา 

เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ที่ จ.เพชรบุรี หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ว่า ระหว่างการประชุม ครม. ได้รับรายงานจากกรมราชทัณฑ์ ว่าได้มีการนำตัว น.ส.เนติพร ส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และมีการวินิจฉัยว่าเสียชีวิตในเวลาต่อมา จึงขอให้ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ และกรมราชทัณฑ์ สื่อสารข้อมูลเบื้องต้นออกไป 

ทั้งนี้ โดยหลักการการเสียชีวิตของผู้ที่อยู่ระหว่างการควบคุมของราชทัณฑ์ หรือเป็นการควบคุมของเจ้าพนักงาน ถือเป็นการเสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติ ดังนั้น หลักการต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งจะประกอบด้วยแพทย์จากนิติเวช กรณีดังกล่าวเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ กับเจ้าพนักงานสอบสวน และเนื่องจากเรื่องนี้เป็นการเสียชีวิตโดยการควบคุมของเจ้าพนักงาน ก็จะต้องมีพนักงานอัยการ พนักงานฝ่ายปกครอง และผู้เกี่ยวข้องมาร่วมชันสูตรพลิกศพ ซึ่งมีหลักการว่าจะต้องทำให้เสร็จภายใน 7 วัน

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อไปว่า ก่อนอื่นในฐานะ รมว.ยุติธรรม และรัฐบาลทุกคน ขอแสดงความเสียใจกับการเสียชีวิต และอยากให้กระบวนการการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งถือเป็นสหวิชาชีพ และเป็นคนกลาง ได้เข้าทำหน้าที่ เชื่อกันว่าจะเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา และจะลดความรู้สึกที่ไม่สบายใจของแต่ละฝ่ายลงได้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรือนจำ หลังจากที่เรามีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หลักฐานต่างๆ ก็จะมีการบันทึกวิดีโอไว้ จึงขอเรียนว่า ถ้ามีใครสงสัยในประเด็นใดก็ยินดีที่จะให้ตรวจสอบ ขณะที่จากรายงานเบื้องต้น น.ส.เนติพร อยู่ในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และอยู่ร่วมกับ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เพื่อให้มีความรู้สึกว่าจะได้ดูแลซึ่งกันและกัน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ก็ต้องขอแสดงความเสียใจ ส่วนรายละเอียดนั้น จะมีการตรวจสอบไปตามกระบวนการต่างๆ

...

ผู้สื่อข่าวถามต่อ คณะกรรมการที่จะมาตรวจสอบจะต้องประกอบจากส่วนไหนบ้าง พ.ต.อ.ทวี กล่าวตอบว่า ตามหลักการต้องเป็นไปตามกฎหมาย คือ 1. ต้องมีแพทย์นิติเวชโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ โดยต้องมีใบประกอบวิชาชีพ 2. ต้องมีพนักงานอัยการ 3. มีพนักงานสอบสวน 4. พนักงานฝ่ายปกครองคือตำรวจ และสามารถให้ญาติเข้าไปรับรู้ได้ แต่ไม่มีตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เชื่อว่าเป็นกระบวนการที่โปร่งใส และเนื่องจากผู้เสียชีวิตอยู่กับโรงพยาบาลตลอด ทำให้มีหลักฐานการรักษา การตรวจ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ก็ต้องสนับสนุนหลักฐานให้กับคณะกรรมการชันสูตรพลิกศพ

สำหรับเรื่องนี้ได้รายงานให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทราบตั้งแต่ช่วงแรกที่นำตัว น.ส.เนติพร ไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับว่าให้รักษาให้ดีที่สุด และช่วยเหลือให้ดีที่สุด ซึ่งภายหลังจากทราบว่าเสียชีวิต ก็ได้มีการรายงานอีกครั้ง โดยนายกรัฐมนตรีบอกว่า ต้องทำทุกอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากผู้เสียชีวิตมีคดี 3 คดี คือ คดีละเมิดอำนาจศาล ซึ่งได้ลงโทษจบไปแล้ว อีกคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ถอนประกัน และยังมีอีกคดีหนึ่งที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคือฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเรือนจำต้องทำตามคำสั่งศาล 

เมื่อถามถึงอาการของ น.ส.ทานตะวัน ขณะนี้ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เดี๋ยวตนจะเข้าไปเยี่ยม เพราะตอนนี้ได้รับแต่รายงาน ปกติแล้วส่วนตัวถ้าไม่เห็นด้วยตา ก็ไม่อยากจะพูดอะไร ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า น.ส.ทานตะวัน ยังอดอาหารอยู่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า อันนี้ไม่ได้ดูรายละเอียด เพราะแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ที่ดูแล และจะมีการบันทึกรายงานไว้แต่ละวันของผู้ต้องขังที่อยู่ในโรงพยาบาล 

สำหรับคำถามว่า ต้องระมัดระวังไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกใช่หรือไม่ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ และแพทย์ว่า น.ส.เนติพร มีการเข้า-ออกระหว่างทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งทั้ง 2 โรงพยาบาลได้ทำตามวิชาชีพแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อถามย้ำว่า นอกจากญาติแล้ว ทนายความสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการได้ด้วยหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวตอบว่า “ยินดีครับ และเช้าวันเดียวกันนี้ให้ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็ได้แจ้งให้กับทางผู้ปกครองของผู้เสียชีวิตก่อนที่จะแจ้งกับ รมว.ยุติธรรม เสียอีก”