ทนายความอิสระ “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ปมการได้มาซึ่ง สว. ชี้ขั้นตอนเลือกกันเองอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107
วันที่ 19 เมษายน 2567 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ม.40, ม.41 และ ม.42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ม.107 หรือไม่
โดยผู้ร้องเห็นว่าเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ที่บัญญัติว่า “มาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อให้การเลือกกันเองเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม” ต้องบัญญัติมาตรการเพื่อป้องกันผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภามีการสมยอมกันในการเลือกกันเองโดยไม่เลือกตนเอง ต้องสันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม จึงบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 94 (7) มาตรา 95 (7) และมาตรา 96 (4) แต่ปรากฏว่ามาตรา 40 (1)-(8) การเลือกกันเองระดับอำเภอ, มาตรา 41 (1)-(8) การเลือกกันเองระดับจังหวัด และมาตรา 42 (1) ถึง (6) การเลือกกันเองระดับประเทศ กลับไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภามีการสมยอมกันในการเลือกกันเองโดยไม่เรียกตนเองต้องสันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือกและถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมจึงเป็นการบัญญัติที่อาจทำให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเฉพาะในขั้นตอนผู้สมัครเลือกกันเองไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมมีผลให้บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวตราขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107
...