“สว.สมชาย” ตั้งข้อสังเกต รัฐบาลทำร่างงบประมาณ 2567 ล่าช้า หวังนำงบที่เบิกจ่ายไม่ทัน ไปแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท หรือไม่ พร้อมถามจะโอนงินส่วนนี้ไปใช้แจกโดยพลการได้อย่างไร 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) วิเคราะห์ถึงการแจกเงินของรัฐบาลในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet วงเงิน 5 แสนล้านบาท เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 16 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ผ่านเฟซบุ๊กว่า ไม่ง่ายอย่างที่คิด ซึ่งตามที่รัฐบาลแถลงว่า สามารถดำเนินการโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท โดยสามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด เป็นการจัดการงบประมาณ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ จากงบประมาณปี 2567 จำนวน 1.75 แสนล้านบาท จากงบประมาณปี 2568 อีก 1.527 แสนล้านบาท และจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1.723 แสนล้านบาทนั้น 

นายสมชาย ขอตั้งคำถามและข้อสังเกตถึงแหล่งที่มาของเงินส่วนที่ 1 ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าจะบริหารจัดการเงินงบประมาณปี 2567 จำนวน 1.75 แสนล้านบาท โดยจะพิจารณาว่าจะปรับเปลี่ยนรายการใดได้บ้าง และจะมีการนำงบกลางมาใช้เพิ่มเติม ดังนี้

1. การเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาผู้แทนราษฎร ล่าช้าออกไปอย่างน้อย 4 เดือน ทั้งที่การยกร่าง พ.ร.บ. โดยกระทรวงต่างๆ ผ่านสำนักงบประมาณเสร็จแล้วในรัฐบาลก่อนหน้า แม้จะมีข้ออ้างว่ารัฐบาลใหม่เพิ่งเข้ารับหน้าที่ ต้องปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ให้ตรงกับนโยบายรัฐบาลนั้น ก็ไม่มีรัฐบาลใดใช้เวลาแก้ไข พ.ร.บ.งบประมาณ นานมากเท่ากับรัฐบาลชุดนี้  

...

“ดังนั้นจึงตั้งข้อสังเกตว่า การทำให้ล่าช้าออกไป เหลือเวลาใช้งบได้แค่ 5 เดือนเศษนั้น เป็นความผิดพลาดล่าช้าหรือจงใจ ที่ต้องการทำให้การลงทุนต่างๆ หลายแสนล้านในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศในภาพรวม เบิกจ่ายงบประมาณไม่ทัน เพื่อจะนำงบเหลือจ่ายไปทำโครงการแจกเงินดิจิทัล 1.75 แสนล้านบาท จาก พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ได้ ซึ่งยังมีคำถามตามมาว่าเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายเลือกตั้ง สัญญาว่าจะให้ด้วยหรือไม่”

2. การดึงงบเหลือจ่ายจากงบประมาณปี 2567 มาใช้กว่า 1.75 แสนล้านบาท โดยจะโอนไปเพื่อภารกิจในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ตรวจสอบแล้วชัดเจนทั้งในคำแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในทุกรายการของงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาทนั้น ไม่มีการตั้งโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตรายการนี้ไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ครม. จะโอนงินส่วนนี้ไปใช้แจกโดยพลการได้อย่างไร 

3. การดึงงบเหลือจ่ายดังกล่าว เพราะรู้ว่าหน่วยงานต่างๆ จะใช้จ่ายงบไม่ทัน ด้วยเหลือเวลาของปีงบประมาณเพียง 5 เดือน โดยต้องนำงบเหลือจ่ายไปไว้ที่งบกลางก่อน แต่มีคำถามตามมาว่า การจะนำงบเหลือจ่ายไปใช้ ต้องออกกฎหมายว่าด้วยการโอนงบประมาณด้วยหรือไม่ เพราะหากนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโดยไม่ออกกฎหมายโอนงบประมาณ ก็จะถูกตรวจสอบเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งเป็นเงื่อนไขการใช้จ่ายงบกลางด้วยอย่างแน่นอน.