"ชวน หลีกภัย" ฝาก "เศรษฐา" ลงพื้นที่อย่าทวงบุญคุณ เพราะเป็นหน้าที่นายกรัฐมนตรี ก่อนทิ้งท้าย ถ้าอยากให้ประชาชนมีความสุข ต้องทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น ด้าน "จุลพันธ์" ลุกประท้วงกรณีพาดพิงเอ่ยชื่อ "ทักษิณ"

เมื่อเวลา 14.46 น. วันที่ 4 เมษายน 2567 นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 โดยระบุว่า ลำพังพรรคประชาธิปัตย์มี 25 เสียง ไม่สามารถขอเปิดอภิปรายได้ ขอบคุณผู้นำฝ่ายค้านและพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เข้าชื่อร่วมกันจนเกิดการอภิปรายขึ้น ไม่เกี่ยวกับการให้เห็นใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากขึ้นในสมัยหน้า ถ้าเลือกคนซื้อเสียงจะได้รัฐบาลโกง ขอประชาชนร่วมกันส่งเสริมประชาธิปไตยในการเลือกคนดี จะได้มีรัฐบาลดีที่ไม่ทุจริตโกงกิน 

จากนั้น นายชวน เข้าสู่ประเด็นเกี่ยวกับราคายางพารา ว่า ราคายางตกไปหลายปี มีคนปลูกยางพารา 69 จังหวัด ก่อนหน้านี้เคยร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะมีพี่น้องชาวสวนยางเดือดร้อนมาก วันนี้ยางราคาขึ้นเป็นเรื่องน่าภูมิใจและดีใจ เมื่อผลผลิตน้อย ความต้องการสูง แย่งกันซื้อราคาก็สูง เหมือนกับพืชทุกตัว แต่เมื่อผลผลิตมากราคาก็จะตกลงไป จึงอยากให้ราคายางสูงเช่นนี้ตลอดไป ราคาขึ้นอยู่ที่อุปสงค์อุปทาน หรืออยู่ที่การตรวจจับยางเถื่อน เพราะนายกรัฐมนตรีแจงในส่วนนี้เมื่อวาน (3 เมษายน 2567) ในทำนองว่า ทุกฝ่ายร่วมกันในการปราบยางเถื่อน ทำให้ราคาสูงขึ้น ถ้าประชาชนเชื่ออย่างนี้ ไม่สนใจเรื่องอุปสงค์อุปทาน ตนมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้ ขอให้พี่น้องชาวสวนยางอย่าไปคิดว่าราคาจะสูงเช่นนี้ตลอด ราคายางเวลาขึ้นก็ขึ้นทุกประเทศ รัฐบาลต้องบอกความจริง ไม่อยากให้หลงทาง เพราะถ้าราคายางตกรัฐบาลจะโดนตำหนิได้ ขอให้พิจารณาโดยถี่ถ้วนรอบคอบ คิดว่าราคายางจะดีเช่นนี้ตลอดไปใช่หรือไม่ และเมื่อวันข้างหน้ามีการเปลี่ยนแปลง ราคายางตก มีแนวทางและตัวเลขราคาหรือไม่ต้องไม่ต่ำกว่าเท่าไร ที่จะให้ชาวสวนยางอยู่ได้ เพราะคงหนีความจริงเรื่องอุปสงค์อุปทานไม่พ้น

...

ขณะที่เรื่องความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายชวน ระบุว่า เคยทักท้วงในตอนรัฐบาลแถลงนโยบายว่าไม่มีการเขียนการแก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ไว้ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ายังมีผู้เสียชีวิตในพื้นที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องเอาใจใส่และให้ความสำคัญจะมีมาตรการป้องกัยความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร ทั้งที่จริงเป็นพื้นที่ด้ามขวานทอง แต่กลับมีสถานการณ์ที่ไม่สงบ ขอถามนายกรัฐมนตรีว่า เหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 22 มีนาคม 2566 เป็นเรื่องภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ ถ้าเป็นในประเทศเราต้องแก้เอง เพราะให้สัมภาษณ์ว่ามีการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ขอรัฐบาลกรุณาอย่าดูดาย 

ขณะเดียวกัน นายชวน ยังขอฝาก นายเศรษฐา ทวีสิน ไว้ว่า เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่อย่าไปคิดว่ามี สส.พรรคเพื่อไทย หรือไม่ ไปนิดเดียวอย่าทวงบุญคุณ เพราะเป็นหน้าที่อยู่แล้ว พร้อมยกตัวอย่างว่า จ.ภูเก็ต เป็นเมืองที่ทำรายได้ท่องเที่ยวอันดับ 1 รองจาก กทม. ต้องช่วยเขา พัฒนาเขา ก่อนจะย้ำว่า นายเศรษฐา ไม่ใช่นายกฯ อีแอบ เพราะเป็นมาครึ่งปีแล้ว ขณะที่ภาษาใต้คำว่า เสดสา แปลว่าลำบาก และที่นายกรัฐมนตรีกล่าวอ้างถึงผู้นำบางท่านบอกว่า เพื่อไทยไม่เคยให้ความสำคัญภาคใต้ ไปเอามาจากไหน เพราะตนไม่เคยพูด ที่เคยพูดในวันแถลงนโยบายคือ ภาคใต้ถูกเลือกปฏิบัติ 

"คนที่เลือกปฏิบัติเขาก็พูดตรงไปตรงมาว่า เมื่อเราได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน ขอพูดตรงๆ เราพัฒนาจังหวัดที่เลือกเราก่อน คือจังหวัดพรรคไทยรักไทยก่อน จังหวัดอื่นไว้ทีหลัง ท่านนายกฯ ถ้าไม่ทราบว่าคนพูดคือใคร ผมจะบอกให้ ท่านทักษิณ (ชินวัตร) พูด แต่ท่านไม่ได้แอบพูด ประกาศกับประชาชนตรงๆ เรารู้ว่าเลือกปฏิบัติ มีอีกท่านหนึ่ง ภูเก็ตขอหอประชุม ไม่ให้จนกว่าจะเลือกพรรคเรา แต่ท่านนี้ก็ต้องขอพูดว่า ผมก็รัก เคารพท่าน แล้วท่านก็เป็นลูกผู้ชายพอที่ลุกขึ้นยืนในสภา ขอโทษขอขมา บอกว่าพูดไปด้วยมันปาก เอาใจกลุ่มคนเสื้อแดง"

ในช่วงนั้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นประท้วงว่า อย่าเอ่ยถึงคนนอกที่ไม่มีสิทธิ์มาชี้แจง ขอให้ระมัดระวัง การเอ่ยชื่ออดีตนายกรัฐมนตรี และยังพูดในทางเสียหายว่ามีการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แบบเลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่เป็นความจริง ถ้าดูงบประมาณที่ลงไปในช่วงที่นายกรัฐมนตรีแต่ละท่านดำรงตำแหน่ง จะเห็นตัวเลขที่ชัดเจนว่าการพัฒนาเกิดขึ้นในช่วงใด ขอให้อภิปรายอยู่ในกรอบ และละเว้นการเอ่ยชื่อคนนอกโดยไม่จำเป็น 

ทำให้ นายชวน ตอบกลับว่า "ไม่มีใครอยู่ในกรอบเท่าผม" โดยเมื่อ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมกำลังจะกล่าว นายชวน พูดขึ้นอีกว่า "ไม่เอ่ยชื่อครับ" นายปดิพัทธ์ จึงขอวินิจฉัยก่อนว่า การพาดพิงส่วนบุคคล อาจจะไม่ตรงญัตติ โดยขอให้อยู่ในญัตติ และไม่พาดพิงบุคคลภายนอก จากนั้น นายชวน อภิปรายต่อไปโดยใช้คำว่าอดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนจะย้ำว่า ตนพูดว่าการเลือกปฏิบัติทำให้เสียโอกาส ขอรัฐบาลสนับสนุนช่วยชดเชยการเสียโอกาสจากการเลือกปฏิบัติ แต่การชดเชยกลับไม่มี ยืนยันว่าตนเองไม่ใช่คนพูดพล่อยๆ หรือบ้าน้ำลาย เพราะพูดอะไรต้องเป็นเรื่องจริง รับผิดชอบสิ่งที่พูด

ในช่วงท้าย นายชวน ยังได้ขอให้รัฐบาลดำเนินนโยบายรัฐบาลตามที่ได้แถลงไว้ อีกทั้งที่นายกรัฐมนตรีให้คำมั่นว่าจะมีผู้ลงทุนแลนด์บริดจ์ เราก็ต้องติดตาม ส่วนกรณีนักโทษ คนป่วยหายป่วยเป็นเรื่องดี ไม่ว่าใครก็ตาม ซึ่งกฎกระทรวงเรื่องการปฏิบัติกับนักโทษนั้นดี แต่ได้มีการปฏิบัติหรือไม่ มีการปล่อยปละละเลยหรือไม่ จึงขอถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และหน้าที่ของนักการเมืองไม่ว่าฝ่ายไหนก็ต้องเคารพกฎหมายบ้านเมือง ถ้าต้องการให้ประชาชนมีความสุข ก็ต้องทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น หวังอย่างยิ่งว่าเราทุกคนต้องยึดหลักความชอบธรรม ถูกต้อง และหลักนิติธรรม และจบการอภิปรายในเวลา 15.34 น.