“นายแพทย์วาโย” จัดหนัก ถามไล่บี้ปมส่งตัวนักโทษที่ป่วยไปรักษานอกเรือนจำ นอนข้างนอกนาน 180 วัน ใช้เกณฑ์อะไร ทำไมเปิดเผยข้อมูลคนป่วยไม่ได้ และแพทย์ที่รักษาเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ ก่อน “หมอชลน่าน” ออกโรงโต้เดือด
เมื่อเวลา 22.33 น. วันที่ 3 เมษายน 2567 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152
นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีการเลือกปฏิบัติ ว่า เรื่องการส่งตัวนักโทษที่ป่วยไปรักษานอกเรือนจำ ยืนยันว่าตามหลักกฎหมายต้องไปแบบเช้าเย็นกลับ แต่หากแพทย์เห็นว่าต้องแอดมิต ต้องอยู่ในขั้นป่วยหนักและป่วยจริง โดยต้องพิจารณาประวัติผู้ป่วยและการวินิจฉัยโรค ขณะที่รายละเอียดการรักษา ระบุว่าผู้ป่วยเป็นโรคเส้นเอ็นเปื่อยยุ่ยฉีกขาด และโรคกระดูกคอเสื่อมเบียดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการยกแขนไม่ขึ้น และต้องมีการผ่าตัด
ยืนยันว่าระยะพักฟื้นหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนและเป็นผู้สูงอายุเพื่อรอการฟื้นตัวจะอยู่ที่ไม่เกิน 3 สัปดาห์ แต่กรณีนี้ลากยาวไปจนถึง 4 เดือน แต่ไม่ว่าจะนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้านนอกนานแค่ไหน ก็ต้องอยู่ที่แพทย์วินิจฉัย ก่อนเสนอไปยัง ผู้บัญชาการเรือนจำ เพื่อส่งต่อเรื่องไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้ความเห็นชอบ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรับทราบ จึงขอตั้งคำถามว่า
1.โรงพยาบาลราชทัณฑ์สามารถรักษาภาวะฉุกเฉินโรคหลอดเลือดอุดตันและหลอดเลือดสมองได้หรือไม่
2.ผู้ป่วยที่เป็นนักโทษสามารถส่งตัวไปรักษานอกเรือนจำภายในระยะเวลา 20 นาที อย่างเท่าเทียมกันหรือไม่
...
3.การผ่าตัดครั้งแรกมีหรือไม่และเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และการรักษาตัวต่อ อยู่ที่หออภิบาลอะไร โดยอย่าปฏิเสธว่าเปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นข้อมูลผู้ป่วย
4.ตอนเจ็บแน่นหน้าอก ให้พ้นจากภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้นเมื่อไหร่
5.ข้อบ่งชี้ที่ให้นอนรักษาตัวนาน 180 วันนั้นคืออะไร
6.ผู้ต้องขังที่ป่วยทุกคนจะขอผ่าตัดแบบทางเลือกได้หรือไม่
นอกจากนี้นายแพทย์วาโย ยังตั้งข้อสังเกตว่าหมอที่ผ่าตัดกระดูกคอและหัวไหล่ ที่ รพ.ราชทัณฑ์มีทำไมถึงผ่าตัดไม่ได้ และเหตุใดต้องมาผ่าตัดที่โรงพยาบาลข้างนอก พร้อมเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่เป็นนักโทษอีกกรณีหนึ่งที่พบฝีที่ตับพักฟื้นแค่ 10 วันเท่านั้น หากเปรียบเทียบกับผู้ป่วย “ท” ที่พักฟื้นถึง 120 วัน ตลอดจนมองว่าห้องพักพิเศษ ไม่เท่ากับห้องควบคุมพิเศษ เพราะโดยหลักแล้วต้องเป็นห้องความดันลบ หรือห้องครอบแก้ว จึงขอถามว่าห้องพิเศษที่โรงพยาบาลจัดไว้เพื่ออะไรมีไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบหรือตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหรือไม่ว่าแพทย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรฐานแล้วหรือไม่
ขณะที่เรื่องการพักโทษ ขอสอบถามว่าการที่ผู้ต้องขังจะได้รับสิทธิการพักโทษ ตามมาตรา 52 ของกรมราชทัณฑ์ จะต้องเป็นเหตุที่ทำขณะต้องขังอยู่ หรือสามารถย้อนไปก่อนที่จะเข้ามาต้องขังได้ เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติในอนาคตต่อไป และหากเป็นกรณีพิเศษ อธิบดีกรมราชทัณฑ์จะต้องเสนอมาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยจะต้องอายุ 70 ปี ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยและต้องได้คะแนนน้อยกว่า 11 คะแนน ที่เข้าขั้นช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในหลายเรื่อง จึงขอสอบถามรัฐมนตรีว่ามีการตรวจสอบรายงานที่ผู้ป่วย “ท” ที่ได้ 9 คะแนนหรือไม่ อีกทั้งมีการผ่าตัดหัวไหล่จริงหรือไม่
ต่อมาเมื่อเวลา 00.04 น. นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวชี้แจงต่อสภา ถึงเรื่องดังกล่าวว่า การเอามาตรฐานวิชาชีพมานั้น ไม่ใช่การสอบถามข้อเท็จจริงแต่เป็นการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถไปสอบสวนได้ และผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะต้องไม่ไปก้าวล่วงผู้ประกอบวิชาชีพเดียวกัน และผู้ร่วมงาน ให้เสื่อมเสียเกียรติยศและศักดิ์ศรี เพราะอาจเป็นการก้าวล่วงได้และอาจทำผิดวิชาชีพได้ ซึ่งตนเองมองว่าสิ่งที่ถามเป็นการใช้วิชาชีพมาเป็นข้อสันนิษฐาน
จากนั้นเวลา 00.58 น. นายแพทย์วาโย ขอใช้สิทธิ์พาดพิง ยืนยันว่าตนเองใช้สิทธิ์ซักถาม เพราะไม่ได้ต้องการเอาคนผิดมาลงโทษ หรือพิสูจน์ความผิดใคร แต่เป็นการสอบถามให้รัฐมนตรีตอบ ว่ามีการตรวจสอบในสิ่งที่อนุมัติหรือไม่ เพราะตนเองชี้ให้เห็นปัญหาว่าประชาชนไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรม และว่ากันไปตามหลักฐานโดยปราศจากอคติส่วนตัว
ทำให้นายแพทย์ชลน่าน กล่าวชี้แจงว่า ตนเองตอบในฐานะสภานายกพิเศษ ในแพทยสภา ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มาโดยตำแหน่ง