"ศิริกัญญา" เหน็บ "เศรษฐา" ไร้เวลาบริหารราชการแผ่นดิน แบบฟูลไทม์ เหตุใช้เวลาเป็นเซลส์แมน ถาม รัฐบาลเอาอย่างไร มาตรการลดค่าครองชีพ ขณะดิจิทัลวอลเล็ต เปลี่ยนแปลงข้อมูล ถึง 5 ครั้ง บอก รอให้แจง 10 เม.ย.ไม่ไหวแล้ว

วันที่ 3 เม.ย. เมื่อเวลา 13.01น. ที่รัฐสภามีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ในวาระเรื่องด่วน ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ครบรอบ 6 เดือน รัฐบาล แต่กลับพบว่า มีการผลิตซ้ำผลงาน 3 เดือน วันนี้นายกรัฐมนตรี เปรียบเสมือนเป็น นายกฯ พาร์ตไทม์ ใช้เวลาไปเป็นเซลส์แมนหรือไม่ โดยไม่มีเวลาบริหารราชการแผ่นดินแบบฟูลไทม์

วันนี้ สิ่งที่เราเฝ้ารอคือการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นแต่กลับไม่เห็น ทั้งนโยบายลดรายจ่ายนโยบายต่างๆของรัฐบาลกำลังหมดอายุ โดยเฉพาะราคาค่าไฟ ซึ่งในเดือนหน้ารัฐบาลจะต้องจ่ายหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ไม่ต่างจากการลดภาษีเบนซิน และดีเซล ที่หมดอายุไปแล้ว

วันนี้ยังมีการตั้งคำถามว่า รัฐบาลจะเอาอย่างไรกับมาตรการลดค่าครองชีพเหล่านี้ วันนี้เมื่อรัฐบาลเก็บภาษีไม่ได้ทำให้กองทุนน้ำมันตกอยู่ในสถานะ "เดอะแบก" และวันนี้รัฐบาลกู้เต็มเพดานจนไม่สามารถกู้ได้แล้วคำถามรัฐบาลจะทำอย่างไรกับการกู้ที่เต็มเพดานเช่นนี้ ท่านจะขยายเพดานเพิ่มขึ้นหรือไม่ และยังจะมีพื้นที่การคลังเพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอย่างไร

ขณะที่การเพิ่มรายได้ ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เคลมว่า สามารถแก้ปัญหายางเถื่อนได้ และจะให้ย้ายใครก็ย้ายได้ เหมือนเป็นการโยนไปที่นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่กำกับดูแลกรมศุลกากร เพราะวันนี้กลับพบว่า มีการย้ายเพียงปลาซิวปลาสร้อย ขณะที่ข้าราชการระดับสูงกลับพบว่า ไม่มีความผิด

...

น.ส.ศิริกัญญา ยังกล่าวว่า วันนี้เราโชคดีว่า วันนี้เราไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจอีกต่อไปตอนนี้รัฐบาลเลิกพูดแล้ว แต่ไม่ได้เป็นเพราะรัฐบาลสามารถแก้วิกฤติได้ แต่มาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ โดยการออกรายงานออกมาฉบับหนึ่ง จนรัฐบาลเลิกพูดว่าวิกฤติทันที ที่ผ่านมาการประโคมข่าวร้ายว่าประเทศกำลังวิกฤติ เพียงเพื่อจะได้ใช้กลไกพิเศษในการกู้เงิน

ทั้งนี้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตล่าสุด มีความคืบหน้า โดยมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดเป็นครั้งที่ 5 จนสร้างความสับสนและไม่แน่ใจว่า จะมีครั้งที่ 6 หรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นแหล่งที่มาของเงินทั้งการพูดตอนเลือกตั้งจะใช้งบปี 67 แต่ปรากฏว่า งบปี 67 ไม่พอ จึงจะไปกู้ธนาคารออมสิน แต่ขัด พ.ร.บ.ออมสินในเรื่องวัตถุประสงค์ การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ที่ถูกท้วงติงจากป.ป.ช.จนกระทั่งครั้งล่าสุด ที่มีการระบุ 3 แหล่งที่มาทั้งการใช้งบปี 67 การแบ่งงบปี 68 จำนวน 1.5 แสนล้าน และการกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งถือเป็นวิธีที่พิสดารและยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีการบังคับใช้เมื่อใดจากเดือน พ.ค. วันนี้ขยับไปเป็นไตรมาส 4 ของปี 2567 จนวันนี้กลุ่มผู้สนับสนุนน่าจะเหนื่อยที่จะแบกไปแล้ว

น.ส.ศิริกัญญา ยังกล่าวว่า หากจะมีการกำหนดเกณฑ์ นับเฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการของรัฐ ราว 14 ล้านคน ส่วนตัวมองว่า ต่อให้รัฐบาลกู้เงินจำนวน 1 แสนล้าน ก็ไม่เพียงพอในการดำเนินโครงการเป็นเช่นนี้อาจต้องไปเอาจากงบกลางอีกราว 4 หมื่นล้านหรือไม่ เรื่องนี้อยากให้อธิบายเพราะตนรอถึงวันที่ 10 เม.ย.ไม่ไหว

ขณะที่แหล่งเงินทุนที่จะมาจากการกู้ ธ.ก.ส. มองว่า จุดประสงค์การกู้ระบุไว้ชัดเจนว่า จะต้องเป็นการกู้เพื่อพัฒนาชนบท การทำธุรกรรมต้องเป็นไปเพื่อสร้างผลผลิตลดต้นทุนเกษตรกร ประเด็นนี้ต้องตีความ ว่า ธ.ก.ส.จะสามารถกู้เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อเกษตรกรได้หรือไม่ เพราะวันนี้ ยังมีเกษตรกรที่รอคอยกว่า 8 ล้านคน

"วันนี้เป็นความพยายามที่เลือกเข้าตา จากเดิมที่เคยพายเรือในอ่างกลับไปเริ่มที่ศูนย์ใหม่เรื่อยๆโดยที่เรากำลังออกทะเลไปไกล เพราะมูลค่า 5 แสนล้าน ก็มาจากการ กู้ กู้ กู้ และก็กู้อยู่ดี"

น.ส.ศิริกัญญา ยังกล่าวว่า ยังไม่นับรวมเรื่องระบบที่ยังมีเวลาที่รัฐบาลจะสามารถแก้ไขได้ในท้ายที่สุด การเลื่อนเช่นนี้เป็นการสะท้อนว่า รัฐบาลยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลทางเศรษฐกิจโมเมนตัม หรือพายุหมุนทางเศรษฐกิจที่ท่านต้องการให้เกิดมันก็จะไม่เกิดขึ้น ตนจึงอยากเรียกร้องรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจได้แล้ว