ปกติก่อนจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ฝ่ายค้านก็ต้องโหมโรงเพื่อขย่มให้สั่นไหวกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา

เรียกว่าเป็นจิตวิทยาเบื้องต้นเพื่อให้ฝ่ายที่ถูกกระทำวิตกกังวลว่าจะโดนอย่างนั้นอย่างนี้ ยิ่งคนที่มีแผลก็ต้องหาทางแก้ลำเอาไว้ก่อน

บางยุคบางสมัยต้องแอบไปขอร้องผู้มากบารมีให้ช่วย อย่างน้อยก็ให้แตะเบาๆ อย่าให้ถึงกับเอาเป็นเอาตาย

เสียอนาคตการเมืองไปเลย

ก็เป็นอย่างนี้แหละ...

เผอิญที่ว่าครั้งนี้เป็นการอภิปรายใน ม.152 ไม่มีการลงมติก็เลยไม่หนักหนาเท่าใด แค่เปิดโปงหรือแฉกันในสภาฯเท่านั้น

ไม่ถึงขั้นต้องโหวต ซึ่งมีผล 2 ด้าน คือ ไม่ไว้วางใจที่จะต้อง พ้นจากตำแหน่งหรือทำให้มีรอยด่างอาจต้องถูกปรับออก

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว รัฐบาลมีเสียงข้างมากอย่างนี้ไม่ค่อยจะมีปัญหา ถ้าไม่จนมุมบนกระดานก็พอจะเอาตัวรอดไปได้

พูดง่ายๆว่า แค่ตีหัวสั่งสอนเท่านั้น

ที่เป็นข่าวก่อนจะเปิดซักฟอกครั้งนี้มีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.ปรับ ครม. และ 2.จะเอา ปชป.เข้าร่วมรัฐบาล

ประเด็นปรับ ครม.นั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” แถลงชัดเจนแล้วว่า ไม่มี ยังไม่มีความคิดเรื่องนี้แต่อย่างใด

ก็จบกันไปจนกว่าจะมีการปรับจริงเท่านั้น

เรื่องที่ 2 นั้น เท็จจริงจะเป็นอย่างไรมิอาจทราบได้แต่ผลทางการเมืองนั้นมีแน่ เนื่องจากประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านที่กำลังจะซักฟอกรัฐบาล

พูดง่ายๆว่า อยู่คนละขั้วกันในสถานการณ์นี้ย่อมมีปัญหาแน่

เพราะปัญหาความขัดแย้งในประชาธิปัตย์การเข้าร่วมรัฐบาลก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ความเห็นไม่ตรงกัน

ฝ่ายหนึ่งระดับผู้อาวุโสอย่าง “ชวน หลีกภัย” นั้น ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่ต้องการจะร่วมงานกับ “เพื่อไทย” ซึ่งเป็นแค้นเก่าต่อเนื่องมาจาก “ทักษิณ”

...

แต่อีกกลุ่มหนึ่งส่วนใหญ่เป็น สส. ในปัจจุบันรวมเสียงได้ถึง 21 เสียง จาก สส. 25 คน ถือว่าเป็นเสียงข้างมากในพรรค ซึ่งเห็นต่างให้เหตุผลว่าอย่าเอาความรู้สึกเก่าๆมากำหนดความเป็นไปในปัจจุบันจนเป็นพวกเจ้าคิดเจ้าแค้น

ทว่าเมื่อต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้านและไม่มีเค้าว่ารัฐบาลต้องการให้เข้าร่วมรัฐบาล จึงได้แต่รอจังหวะไม่ต่างกับ “อะไหล่” เท่าใดนัก

จึงจำเป็นต้องทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น

แต่เมื่อมีข่าวออกมาอย่างนี้ ย่อมทำให้สมาธิในการทำหน้าที่เกิดความแกว่งไปอย่างช่วยไม่ได้ เพราะจิตเดิมแท้นั้น ต้องการร่วมรัฐบาลด้วยอยู่แล้ว

มองอีกแง่หนึ่งรัฐบาลก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ประชาธิปัตย์เข้าร่วมแต่อย่างใด โดยเฉพาะ “ทักษิณ” ที่เคยบอกว่า ถ้าไม่ชอบกันก็ต่างคนต่างอยู่

เรื่องทำนองนี้ต้องดูจากภาคปฏิบัติมากกว่า

หากการอภิปรายครั้งนี้ประชาธิปัตย์แสดงบทบาทแบบซูเอี๋ยไม่เอาจริงเอาจัง เพราะสามารถดูออกก็แสดงว่ามีการเจรจากันแล้ว

แต่ถ้าลีลายังเหมือนเดิม เจ้าแห่งฝ่ายค้าน...ก็แค่ข่าวลือเท่านั้น!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม