ปลัดมหาดไทย เผยคืบหน้าแก้หนี้นอกระบบ เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้แล้ว 43,923 ราย ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 26,126 ราย มูลหนี้ลดลง 1,023 ล้านบาท กำชับทุกจังหวัดเร่งรัดต่อเนื่องให้ครบ 100% หวังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น
วันที่ 2 เมษายน 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงมหาดไทยเปิดรับลงทะเบียนช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายรัฐบาล มีผู้มาลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 153,400 ราย กระทรวงมหาดไทยจึงแจ้งให้ทุกจังหวัด อำเภอ เดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มาเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้
โดยเมื่อเวลา 15.00 น. สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ได้รายงานข้อมูลการไกล่เกลี่ยหนี้ทั่วประเทศ มีจำนวนลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว 43,923 ราย สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ 26,126 ราย มูลหนี้ลดลงรวม 1,023.172 ล้านบาท และมีกรณีที่เจ้าหนี้-ลูกหนี้มีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ได้ส่งต่อเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ดำเนินคดีแล้ว 383 คดี
จังหวัดที่สามารถเชิญเจ้าหนี้-ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ได้มากที่สุด 5 ลำดับ
1. จังหวัดสงขลา 4,378 ราย
2. จังหวัดนครศรีธรรมราช 3,698 ราย
3. จังหวัดนครสวรรค์ 2,669 ราย
4. จังหวัดศรีสะเกษ 2,890 ราย
5. จังหวัดนครราชสีมา 2,269 ราย
ซึ่งเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มาพบปะพูดคุยกัน โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นคนกลาง และหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ติดตามผลภายหลังจากการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประสบความสำเร็จครบทั้งกระบวนการต่อไป
“สงขลายังคงเป็นจังหวัดที่มีลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยมากที่สุด 4,378 ราย และมี 3 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ นราธิวาส และระนอง ที่ได้ดำเนินการกระบวนการไกล่เกลี่ยครบ 100% แล้ว ซึ่งได้ย้ำให้ทุกจังหวัดที่เหลือเร่งรัดให้เจ้าหนี้และลูกหนี้มาเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ครบทุกกรณี เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว เป็นธรรม และต้องคำนึงถึงความสำเร็จในการไกล่เกลี่ยของทุกกรณี หากไม่สามารถใช้การเจรจาไกล่เกลี่ยได้ หรือกรณีเจ้าหนี้ไม่ให้ความร่วมมือ ให้ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายทันที เพราะหนี้นอกระบบถือว่าผิดกฎหมาย คือมีการปล่อยกู้โดยไม่มีใบอนุญาต อีกทั้งยังเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด”
...
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคลินิกแก้ไขหนี้ โดยกำชับให้นายอำเภอ มอบหมายสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ในฐานะเลขานุการกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ระดับอำเภอ (ศจพ.อ.) ใช้แนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน (เมนูแก้จน) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ลูกหนี้ซึ่งประสงค์จะได้รับความช่วยเหลือ ให้สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มต่อยอดในการสร้างอาชีพ รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรหนี้นอกระบบ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
นายสุทธิพงษ์ ระบุในช่วงท้าย แม้ว่าการรับลงทะเบียนจะปิดรับไปแล้ว แต่กระบวนการดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนยังไม่สิ้นสุด ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองได้ และต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ สามารถติดต่อผ่านช่องทางศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทยได้ ทั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ หรือโทรสายด่วน 1567 โดยจะมีเจ้าหน้าที่บริการตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง และขอย้ำว่ากระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นทุ่มเทช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ตามพันธกิจของกระทรวงมหาดไทยในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อให้ประชาชนได้พึ่งพาตัวเองได้ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน.