มติที่ประชุมสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งท้ายสมัยประชุม ด้วยเสียงข้างมากของ สส.ฝ่ายรัฐบาล มีมติให้ส่งการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของ ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.เพื่อไทยและคณะ ว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง ก่อนและหลังการแก้รัฐธรรมนูญ โดยที่ สส.ก้าวไกล ไม่เห็นด้วยที่จะยื่นดาบอำนาจการตัดสินใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ประเด็นก็คือมีการท้วงติงว่า เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเอาไว้ ดังนั้น ประธานสภาจึงไม่สามารถบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับของ ชูศักดิ์ ศิรินิล และคณะ เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมได้
เพราะร่างญัตติของชูศักดิ์ และ สส.เพื่อไทย 133 คน เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 เพื่อเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของญัตติแล้ว เห็นว่าเป็นการยกเลิก ซึ่งหากสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อเสร็จแล้วจะต้องมีการจัดให้มีการทำประชามติว่าเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็มีความเห็นร่วมกันว่าควรจะมีการทำประชามติ 2 ครั้ง คือหลังจากการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 2560 และหลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วหรือมากกว่านั้น
ฝ่ายรัฐบาล ที่ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีรองนายกฯ ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน เห็นว่าควรจะทำประชามติ 3 ครั้ง ตั้งแต่ก่อนเสนอร่างรัฐธรรมนูญ
เท่ากับว่าเกิดช่องว่างขึ้น เมื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะทำให้เกิดปัญหาในการแก้รัฐธรรมนูญตามมา โดยเฉพาะเรื่องการทำประชามติ ที่ผ่านมาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2564 โดยความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 คน ให้ประธานสภาสามารถบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.ได้ ดังนั้น ถ้ามีการตัดสินใจที่จะไม่บรรจุวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การทำประชามติก่อน จะถูกมองว่าอำนาจการตัดสินใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในมือของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นอำนาจของ สส. และ สว. ในสภา
...
เรื่องนี้ ถูกชี้ขาดโดยประธานสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ญัตติของที่ประชุมสภา โดยยึดหลักการที่สมัยอดีตประธานสภา ชวน หลีกภัย เคยตัดสินใจที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาแล้ว จนกว่าจะมีข้อยุติ
ดังนั้น การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก็จะถูกดองต่อไป ประชาธิปไตยก็ยังครึ่งใบ คาราคาซัง
ส่วนรายงานของคณะกรรมาธิการ โครงการบ่อนพนันถูกกฎหมาย ผ่านฉลุย รัฐบาลรับลูกเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อออกเป็นกฎหมายโดยเร่งด่วน อ้างเพื่อแก้ปัญหาบ่อนเถื่อนและเป็นประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ
อดีตและปัจจุบัน ทั้งบ่อนเถื่อน และพนันออนไลน์ในประเทศไทยเกลื่อนเมือง คนที่ได้ประโยชน์เป็นนักลงทุนข้ามชาติสีเทาที่มีการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว คนมีสี นักการเมืองได้ประโยชน์มหาศาล
ส่วนชาวบ้านตาดำๆหมดเนื้อหมดตัว.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม