นโยบายสำคัญเร่งด่วนที่สุดที่รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำและมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี อยากจะทำให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด นอกจากการเป็นเซลส์แมนของประเทศ บินไปชักชวนนานาชาติให้มาท่องเที่ยวลงทุน และค้าขายกับไทยแล้ว ยังมีอีก 2 นโยบายที่ด่วนสุดคือโครงการแจกเงินหมื่น

ตามด้วยการจัดทำหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วม และเป็นประชาธิปไตยที่แท้ นายกรัฐมนตรีเคยสัญญาว่าจะทำทันที ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก และทำตามสัญญาจริง โดยแต่งตั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไข

มีอำนาจหน้าที่ศึกษาแนวทางการทำประชามติ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ผ่านมา 7 เดือนแล้ว ยังไม่ได้ข้อยุติจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทน ราษฎรและวุฒิสภา ร่วมกันแสดงความเห็นเกี่ยวกับญัตติของพรรคเพื่อไทย ที่จะให้รัฐสภากลับไปถามศาลรัฐธรรมนูญ

ที่ประชุมอภิปรายเรื่องนี้อย่างดุเดือดเข้มข้น ทั้งๆที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยมาแล้ว ว่าถ้าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องทำประชามติกลับไปถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพราะว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบันผ่านการออกเสียงประชามติ จึงเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนต้องกลับไปถามเจ้าของเสียก่อน

นักกฎหมายบางคนตีความว่า จะต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ก่อนรัฐสภาบรรจุวาระและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ครั้งที่ 2 ให้ทำหลังจากที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบวาระ 3 ของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ครั้งที่ 3 ทำเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่

จะจัดทำประชามติกี่ครั้ง แม้จะไม่ใช่เรื่องซับซ้อน เพราะแค่ถามประชาชนว่า “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” แต่การลงประชามติแต่ละครั้งจะต้องเสียเวลา และต้องใช้งบประมาณครั้งละ 3 พันกว่าล้านบาท ถ้าสามครั้งจะกลายเป็นหมื่นกว่าล้าน ส่วนเวลาประธานคณะกรรมการฯ สัญญาว่าจะให้เสร็จภายใน 4 ปี

...

นั่นก็คือคนไทยจะได้รัฐธรรมนูญใหม่ หลังรัฐบาลอยู่ครบวาระ จึงมีคำถามว่ารัฐบาลเตะถ่วงเวลาทำไม เพราะรัฐบาลเคยโจมตีรัฐบาล คสช. กล่าวหาว่าใช้รัฐธรรมนูญเป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจรัฐประหารนาน 9 ปี จึงต้องเร่งแก้ไข แต่รัฐบาลอาจถูกโจมตี ใช้รัฐธรรมนูญเตะถ่วง เพื่อให้อยู่นานอย่างน้อย 4 ปี.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม