“จักรพงษ์” รมช.ต่างประเทศ ยัน ญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญนักท่องเที่ยวไทย หลังสังคมกังวลปมทบทวนฟรีวีซ่า เหตุคนไทยลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ชี้ พิจารณาทุก 3 ปีอยู่แล้ว เผย รมว.แรงงาน เตรียมไปญี่ปุ่น

วันที่ 19 มีนาคม 2567 นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยพะเยา ถึงกรณีประเทศญี่ปุ่น ส่งสัญญาณในการทบทวนมาตรการฟรีวีซ่าไทย หลังนักท่องเที่ยวลักลอบเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ว่า ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสถานทูตญี่ปุ่นแล้ว ตนได้อธิบายว่าต้องแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยที่ไปแล้วอยู่ตามกำหนด ซึ่งมีประมาณเกือบล้านคนต่อปี ซึ่งทางญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญ และอีกกลุ่มคือ กลุ่มที่ทางญี่ปุ่นนำข้อมูลจากเราไปพิจารณาป้องกันไม่ให้คนอยู่เกินกำหนด 

เมื่อถามว่าจะมีการพูดคุยกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หรือไม่ นายจักรพงษ์ ระบุว่า กำลังคุยกันอยู่ ทราบว่าท่านกำลังจะไปญี่ปุ่น หลังจากนี้ก็คงต้องคุยกันว่าจะมีวิธีการอย่างไร ในการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ทำงานที่ญี่ปุ่นจริงๆ เพื่อที่เขาจะได้ไปอย่างถูกกฎหมาย และได้รับสวัสดิการ 

ส่วนการทบทวนวีซ่า นายจักรพงษ์ ระบุว่า ที่จริงแล้วมีการพิจารณาทุก 3 ปี เหมือนกับที่เราทำฟรีวีซ่าให้กับประเทศต่างๆ ที่ทุกๆ 3 ปี จะต้องกลับมาพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าและปัญหาต่างๆ เพื่อที่จะได้คุยกับทางประเทศนั้นๆ ว่าจะมีการพัฒนาร่วมกันอย่างไร และมีอะไรที่ต้องจัดการบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ 

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า ทางสถานทูตไทยที่ประเทศญี่ปุ่นเคยออกประกาศเตือนแรงงานไทยที่ยังลักลอบอยู่เกินกำหนด จะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบว่า เราต้องเอาข้อมูลมาดูกันว่ามีกลุ่มไหนเสี่ยงบ้าง แต่เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคล จึงต้องค่อยๆ พิจารณาว่าจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ กรณีของประเทศญี่ปุ่นมีความแตกต่างจากกรณีแรงงานที่ลักลอบทำงานในเกาหลี 

...

ทางด้านกรณีฟรีวีซ่าประเทศฟินแลนด์ สำหรับแรงงานไทยที่เข้าไปเก็บเบอร์รีนั้น นายจักรพงษ์ กล่าวว่า กรณีประเทศฟินแลนด์ไม่ใช่ฟรีวีซ่า แต่เป็นการที่คนไทยเข้าไปเก็บเกี่ยวเบอร์รี และด้วยความที่ประเทศฟินแลนด์ไม่ได้มีเรื่องของวีซ่าแรงงานกับไทย ทำให้แรงงานไทยเข้าไปโดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว จึงไม่มีเรื่องสิทธิการคุ้มครองแรงงาน และมีเรื่องของการโดนหลอกเข้าไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะต้องคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อว่าจะทำอย่างไร เพราะการที่คนไทยเข้าไปจะต้องได้รับการคุ้มครอง และได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับแรงงานทั่วไป.