“ชัยชนะ” ประธาน กมธ.ตำรวจ ชี้ 2 ตำรวจทรมาน “ลุงเปี๊ยก” รับผิดคดี “ป้าบัวผัน” ถือว่าผิด พ.ร.บ.อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ด้าน “ณัฐชา” ประธาน กมธ.การสวัสดิการสังคม เผย เล็งเชิญหน่วยงานหารือบทลงโทษคดีเด็กและเยาวชน

วันที่ 19 มกราคม 2567 นายชัยชนะ เดชเดโช ประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันแถลงข่าวที่อาคารรัฐสภา ว่า กมธ.ตำรวจ และ กมธ.การสวัสดิการสังคม จะหารือร่วมกันในประเด็นกระบวนการพิจารณาคดีของตำรวจในการแสวงหาข้อเท็จจริงให้เป็นไปในทางที่จะเกิดความยุติธรรมต่อประชาชน 

สืบเนื่องจากทั้ง 2 คณะ กมธ. ได้ติดตามกรณีการเสียชีวิตของ นางสาวบัวผัน ตันสุ หรือ ป้ากบ อายุ 47 ปี หญิงสติไม่ดีใน จ.สระแก้ว โดยเบื้องต้นตำรวจได้ออกหมายจับ นายปัญญา คงแสนคำ หรือ ลุงเปี๊ยก ผู้เป็นสามี ว่าเป็นผู้ต้องหา หลังจากมีการสืบสวนใหม่พบว่า ป้าบัวผัน ถูกกลุ่มวัยรุ่น 5 คน ทำร้ายจนเสียชีวิต โดยหนึ่งในจำนวนนั้นมีลูกของตำรวจสืบสวน สภ.อรัญประเทศ อีกทั้งมีการจับกุมและกระทำการทรมานลุงเปี๊ยก เพื่อให้รับสารภาพจากตำรวจ สภ.อรัญประเทศ 2 นาย 

ทั้งนี้ หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 แล้ว การกระทำของตำรวจทั้ง 2 นาย ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ. ที่ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ 

1. ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม 

...

2. ลงโทษผู้ถูกกระทำเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำหรือสงสัยว่ากระทำของผู้นั้นหรือบุคคลที่สาม 

3. ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม 

4. เลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน มีโทษจำคุก 5-15 ปี โทษปรับ 100,000-300,000 บาท 

ขณะนี้ทางผู้บังคับบัญชาได้แจ้งความดำเนินคดีกับนายตำรวจทั้ง 2 นายแล้ว และมีคำสั่งให้ดำเนินคดีกับเยาวชนทั้ง 5 ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เร่งรัดดำเนินการติดตามคดีดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนมากมีสาเหตุจากสารเสพติด จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด

ทางด้าน นายณัฐชา กล่าวเสริมว่า กมธ.การสวัสดิการสังคม ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับข้อกฎหมายในการคุ้มครอง และบทลงโทษในคดีเด็ก เยาวชน จำนวนมาก ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 73-75 เด็กที่มีอายุไม่เกิน 12 ปี ไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ผู้พิพากษาสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตาม (1) (2) (3) ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ต้องส่งไปสถานพินิจแต่อยู่ได้ไม่เกินอายุ 18 ปี สังคมอาจมองว่าไม่สมควรแก่เหตุ ทาง กมธ. จึงเตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือกัน เพื่อให้โอกาสกับเด็กที่หลงผิดหรือพลาดพลั้งไป 

อย่างไรก็ตาม กมธ.ทั้ง 2 คณะ จะมีการหารือร่วมกันประเด็นกระบวนการพิจารณาคดีของตำรวจในการแสวงหาข้อเท็จจริงให้เป็นไปในทางที่จะเกิดความยุติธรรมต่อประชาชน สำหรับปัญหาคนเร่ร่อนหรือคนไร้ที่พึ่งนั้น กมธ. จะเชิญมูลนิธิอิสรชน  มูลนิธิกระจกเงา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมหารือเรื่องการดูแลบุคคลดังกล่าวต่อไป