“ศรีสุวรรณ” ร้อง กมธ.สภาฯ สอบ “สมศักดิ์” อดีต รมว.ยุติธรรม ข้อพิรุธ 7 ข้อ เข้าข่ายการเอื้อประโยชน์และปล่อยให้บริษัทเอกชนมาฮั้วประมูลนำกำไล EM มาให้กรมคุมประพฤติใช้โดยไม่มีคุณภาพจริงหรือไม่

วันที่ 11 มกราคม 2567 นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เดินทางมายื่นคำร้องต่อประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการจัดเช่ากำไล EM ของกรมคุมประพฤติ สมัยที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ล็อกสเปกให้บริษัทเอกชนคนใกล้ชิดนักการเมืองบุรีรัมย์ได้งานไปอย่างเป็นกระบวนการ โดยสรุปได้ 7 ประเด็น คือ

1. มีการปล่อยปละละเลย ให้กรรมการทีโออาร์ และกรรมการจัดซื้อ ทุจริตกันตั้งแต่ต้นน้ำ, กรรมการบางคนรับสารภาพว่าไม่เคยเข้าร่วมประชุมใดๆ เลย และไม่เคยเซ็นเอกสารใดๆ แต่อดีต รมว.กระทรวงยุติธรรม กลับปล่อยปละละเลยเพิกเฉย มิได้สั่งการหรือดำเนินการให้มีการตรวจสอบกลับสนใจแต่จะไกล่เกลี่ย ล็อบบี้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการอนุมัติ หรือเซ็นสัญญาจ้างโครงการกำไล EM โดยได้ผู้ชนะการประมูลเป็นรายเดิม 

2. มีการปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตโครงการเช่ากำไล EM ล็อกสเปก โดยไม่ปรับแก้สเปกแม้มีคนร้องเรียน อ้างแต่สเปกของศาลที่ใช้มา 6-7 ปี ตกยุคล้าหลังไม่ทันสมัย ทำให้ได้อุปกรณ์และระบบงานที่ไม่มีคุณภาพ 

3. ไม่มีการปรับแก้ไขสเปกที่ทันสมัย มีคุณภาพดีกว่า ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีวงจรอิเล็กทรอนิกส์พัฒนาไปไกล เล็กกะทัดรัดทนทาน และทันสมัย มีคุณภาพสูงกว่ากำไล EM ที่ใช้งานอยู่ในเวลานี้ 

4. มีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน ทุจริตโครงการเช่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (กำไล EM) ระยะที่ 1-2 มูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาท โดยบริษัทเอกชน และอดีต รมว.กระทรวงยุติธรรม พยายามไกล่เกลี่ย ล็อบบี้ผลสอบของระยะที่ 1 ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมธิการติดตามงบประมาณ เพื่อเตรียมสร้างความชอบธรรมในการประกาศผู้ชนะกาศประมูลงาน ระยะที่ 2 ให้ได้บริษัทเดิม

...

5. เมื่อช่วยเหลือและเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนได้ ก็เร่งประกาศผู้ชนะกาศประมูลงาน ระยะที่ 2 และเตรียมของบกลางอีก 1,200 ล้านบาท สำหรับจัดเช่ากำไล EM ในระยะที่ 3 อีก 

6. มีการละเลยให้บริษัทเอกชน และเจ้าหน้าที่ร่วมกันปกปิดข้อมูลความผิดพลาดของ ระบบ Monitor และอุปกรณ์กำไล EM, โดยให้มีการแก้ไข Log Files หรือบันทึกการใช้งานของผู้ใส่กำไล EM ก่อนนำส่งสรุปผลและบันทึกการใช้งานของผู้ใส่กำไล เพื่อปิดบังปัญหาระบบแจ้งเตือนผิดพลาด ซึ่งในแต่ละวันมีการแจ้งเตือนผิดพลาดหลายร้อยครั้ง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเสียเวลา ตรวจสอบและเพิ่มภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่กรมคุมประพฤติ

7. ยังพบว่ามีการช่วยเหลือให้บริษัทเอกชน เบิกเงินค่าเช่าที่เหลือในระยะที่ 1 จำนวน 241 ล้านบาท (รอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566) ไปให้หมดโดยไม่สั่งการหรือระงับการจ่ายเงินไว้ก่อน โดยได้มีการแถลงต่อหน้าสื่อมวลชน และอดีตผู้นำฝ่ายค้านในสมัยนั้นยังเคยแถลงว่าส่อทุจริตจริง แต่ก็มิได้ดำเนินการใดๆ

นายศรีสุวรรณ ระบุในช่วงท้ายว่า ด้วยเหตุดังกล่าว องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จึงนำความมาร้องคณะกรรมาธิการในวันนี้เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อพิรุธทั้ง 7 ข้อ ว่าเข้าข่ายการเอื้อประโยชน์และปล่อยให้บริษัทเอกชนมาฮั้วประมูลนำกำไล EM มาให้กรมคุมประพฤติใช้โดยไม่มีคุณภาพจริงหรือไม่ โดยเมื่อพบข้อเท็จจริงจะได้ดำเนินการตามครรลองของกฎหมายต่อไป.