รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยัน ตั้งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติมา 2 เดือน ประสบความสำเร็จ ขอให้มองคำนิยามเป็นเรื่องสุดท้าย เพราะเป้าหมายคือทำให้ประชาชนมีรายได้ ยัน 4 ปี 20 ล้านครัวเรือน ต้องมีรายได้ 2 แสนบาท

วันที่ 4 มกราคม 2567 เมื่อเวลา 15.20 น. ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระแรก วงเงิน 3,480,000 ล้านบาท

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวอภิปรายชี้แจงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ว่า รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติขึ้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และได้เดินเรื่องมา 2 เดือนเศษแล้ว ซึ่งประสบความสำเร็จ ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่อยู่ในธุรกิจต่างๆ เป็นอย่างดี เรื่องของคำนิยามขอเป็นเรื่องสุดท้าย เพราะไม่ว่าจะนิยามอย่างไร มันอาจจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และความเข้าใจระหว่างบุคคล ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่เป้าหมายหลักของรัฐบาล ไม่ใช่เป็นรื่องของนิยาม แต่เป็นเรื่องการสร้างรายได้ใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน เนื่องจากภาระหนี้ครัวเรือนกดทับประชาชนจนไม่มีช่องทางหารายได้ใหม่ๆ 

“เพราะฉะนั้นไม่สำคัญว่ามันจะเป็นหมูกระทะ เป็นวัวชน เรื่องของสงกรานต์ อะไรต่างๆ เราสามารถปรับเปลี่ยนและประยุกต์ เพื่อจะให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เรื่องคำนิยามจึงตกไป” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ถ้าประเทศไทยเดินหน้าเรื่องซอฟต์พาวเวอร์สำเร็จ ประเทศไทยจะไต่ในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์อินเด็กซ์ในระดับโลกได้อย่างแน่นอน แต่ไม่ใช่เป้าหมายหลัก ไม่ว่าจะได้อันดับ 1 หรืออันดับ 100 หากสร้างรายได้ให้กับประชาชนได้ถือเป็นเป้าหมายสำคัญมากกว่า ส่วนที่มีการมองว่าจะเป็นการจัดงบประมาณเพื่อจัดอีเวนต์หรือไม่ ตนเองไม่อยากให้ด้อยค่า แน่นอนว่ามันมีการจัดกิจกรรมเกิดขึ้นจริงในหลายจุด แต่มันก็ไม่ใช่ในประเด็นแรก เพราะมีการรีสกิล และอัปสกิลให้ประชาชน อีกทั้งงบประมาณตรงนี้เกิดจากภาคเอกชน จะทำให้เกิดความเข้าใจในความต้องการของภาคเอกชนโดยแท้จริง และพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ 

...

นายจุลพันธ์ ยังระบุว่า เป้าหมายที่วางไว้รายได้ครัวเรือนละ 200,000 บาท ใน 20 ล้านครัวเรือน ยังเป็นเป้าหมายที่จะต้องเดินไปให้ได้ใน 4 ปีข้างหน้า อันนี้เป็นความฝัน ความเชื่อ และเป็นเป้าหมายของเรา อีกทั้งรัฐบาลเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยทุกคนที่จะสร้างเม็ดเงินใหม่ๆ สร้างรายได้ให้ประชาชนตามที่รัฐบาลคาดหวังด้วยงบประมาณที่มีอยู่ ด้วยกลไกภาครัฐ และภาคประชาชน.