“วราวุธ” พอใจ อภิปรายวันแรก ขอบคุณนายกฯ ให้ความสำคัญงบ พม. ห่วงความเป็นอยู่กลุ่มเปราะบาง แจง ขึ้นเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1,000 บาทไม่ได้ เหตุรายรับ-รายจ่ายรัฐบาลยังสวนทางกัน และมีคนไทยเสียภาษีไม่ถึง 5 ล้านคนต่อปี

วันที่ 4 มกราคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า พอใจการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในส่วนของงบประมาณ พม. และขอบคุณฝ่ายค้านที่ได้ตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม เกษตร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสังคมที่ทาง พม. ได้ดูแลอยู่ ซึ่งข้อสังเกตเหล่านั้นจะนำไปปรับปรุงและเร่งรัดการทำงานต่อไป ต้องขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่มีความเป็นห่วงเป็นใยความเป็นอยู่กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็ก 

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลล่าสุดที่เพิ่งได้ของเดือนธันวาคม 2566 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเกิน 20% ของประเทศ ประมาณ 20.1-20.2% ซึ่งถ้าเทียบตามกติกาของสากล 7-14% หมายถึงสังคมผู้สูงอายุ ส่วน 14-20% เป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ และถ้าเกิน 20% เป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด ตอนนี้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด เท่ากับประเทศญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจว่าการดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำ แต่ศักยภาพในการดูแลเมื่อเทียบกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ทั้งหมด ในปี 2565 มี 400,000 กว่าคนเท่านั้น นั่นหมายความว่า จากนี้ไปจำนวน Gen Y, Gen Z หรือในอนาคต ก็จะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อที่จะมีสวัสดิการให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่นับวันมีมากขึ้น 

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญนอกจากการดูแลผู้สูงอายุให้ทั่วถึงแล้ว รัฐบาลจำเป็นต้องดึงเอาศักยภาพของคนทุกกลุ่มในประเทศไทยช่วงระยะเวลาสั้นออกมา เพราะทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ ไม่ได้แปลว่าไม่มีศักยภาพในการทำงาน ทุกคนล้วนเป็นบุคลากรและเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของสังคมไทย จึงต้องดึงเอาศักยภาพและเสริมศักยภาพของคนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นโปรดักทิวิตี้ (Productivity) เพื่อให้เกิดรายได้ และพลังขับเคลื่อนของสังคม ไม่เช่นนั้นนับวันจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น และมีคนต้องใช้เงินสวัสดิการมากขึ้น สวนทางกับคนที่มีกำลังทำงานที่มีปริมาณน้อยลง จะทำให้คนเจนวาย เจนแซด เป็นนางแบก และไม่อยากให้กลุ่มเหล่านี้ถอดใจและเกษียณก่อนวัยอันควรที่ไม่อยากจะแบกรับสวัสดิการเหล่านั้น จึงเป็นเวลาที่สังคมไทยต้องมาเสริมสร้างกลุ่มที่เปราะบางเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไทยได้

...

เมื่อถามถึงการอภิปรายที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับงบปี 2567 เพื่อการพัฒนาสังคม นายวราวุธ ระบุว่า ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาทุกมิติ เพราะหลายประเด็นที่นายกรัฐมนตรีได้พูดถึง ทั้งเรื่องความรุนแรงของสตรี และความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งถือเป็นกำลังใจให้กับ พม.

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปถึงกรณีที่ฝ่ายค้านอภิปรายอยากให้ปรับเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อเดือนเท่ากันทุกช่วงวัย นายวราวุธ ตอบว่า การขอไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุปัจจุบันที่เป็นขั้นบันได 600 บาท 700 บาท 800 บาทนั้น เราใช้เงินปีละประมาณ 100,000 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าจะปรับให้เป็น 1,000 บาทถ้วนหน้า ต้องใช้เงินมากขึ้นถึง 60,000 ล้านบาท หากสำนักงบประมาณและรัฐบาลมีเงินพอก็เชื่อว่าอยากจะให้อยู่แล้ว แต่ปี 2565 ประเทศไทยมีคนเสียภาษีจริงๆ 4 ล้านกว่าคน และมีเงินภาษีกับบริษัทห้างร้าน และสรรพสามิต ซึ่งไม่ถึง 10% ของประชากรคนไทย หรือมีคนเสียภาษีไม่ถึง 5 ล้านคน เงินขาเข้ามีน้อย แต่เงินขาออกทุกคนอยากให้มีถ้วนหน้า สิ่งสำคัญคือต้องเน้นกลุ่มเปราะบางและคนที่เดือดร้อนมากที่สุดก่อน แล้วค่อยๆ ดูแลตามลำดับความสำคัญไป

“ส่วนตัวก็อยากจะให้ดูแลสังคมให้ถ้วนหน้าได้จริงๆ อย่างที่ถูกอภิปราย แต่ก็เห็นใจกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ที่มีรายได้น้อยและจำกัด พม.เองก็ไม่อยากให้งบประมาณกลายเป็นงบขาดดุลทุกปีๆ ซึ่งปีนี้ก็กู้มาอีกหลายแสนล้าน และถ้าต้องการถ้วนหน้าจริง ก็จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับสำนักงบประมาณอีก แต่ถ้างบเพียงพอ ผมคิดว่าไม่ใช่แค่ 1,000 บาท แต่ 3,000 บาท หรือกี่พันบาท เราก็อยากให้ แต่วันนี้รายจ่ายและรายรับมันไม่บาลานซ์กัน”

อย่างไรก็ตาม นายวราวุธ ยังกล่าวด้วยว่า ตนไม่อยากให้มองว่าผู้สูงอายุจะต้องเป็นฝ่ายรับฝ่ายเดียว เพราะสังคมผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น หลายคนก็มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ซึ่งเกิดจากระบบสาธารณสุขของไทยที่มีการพัฒนา จึงมองว่าสังคมไทยควรให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้ เพราะเขาสามารถทำงานเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศไทยได้ ทุกคนอาจจะตั้งคำถามว่าจะเอากลุ่มคน 60 ปี มาทำงานหรือ ซึ่งต้องบอกว่า วันนี้กลุ่มคนทำงานมีจำนวนน้อยลง แต่กลับมีจำนวนผู้ใช้สวัสดิการเพิ่มขึ้น จึงเกิดคำถามตามมาว่า ถ้าทุกคนอยากได้รับการสนับสนุน แล้วจะเอาคนกลุ่มไหนมาทำงาน เพื่อที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติได้ และหากกลุ่มผู้สูงอายุทำงานได้ เป็นเหมือนการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะประเทศชาติจะได้เงินภาษีเพิ่มขึ้น และสามารถทำให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำหลังวันเกษียณ ซึ่งจะเป็นผลดีที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง.