“ภาณุ” สส.เพื่อไทย อวย ก.สาธารณสุข ผลงานเป็นที่ประจักษ์ ยก 30 บาท เป็นคุณูปการ “ทักษิณ” ด้าน “เจเศรษฐ์” อภิปรายเดือด น้ำประปาหมู่บ้านไม่เคยได้รับการแก้ไข พูดกันจนคอแตก ฝากหน่วยงานยึดความเดือดร้อนประชาชน
เมื่อเวลา 13.39 น. วันที่ 4 มกราคม 2567 นายภาณุ พรวัฒนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 มีความสอดคล้องกับที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงต่อรัฐสภา โดยตนเองขอสนับสนุนให้ผ่านการรับรองของสภา เพื่อนำงบประมาณไปใช้จ่ายให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ
จากนั้นกล่าวถึงเรื่องยุทธศาสตร์ที่ 6 ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ว่า โชคดีที่ประเทศไทยได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นแพทย์ และมีความดี เอาชนะทุกกลุ่มในกระทรวง จากแต่ก่อนแบ่งกลุ่มเยอะ ปัจจุบันสงบไปกว่า 90% เพราะมีความสมัครสมานสามัคคี โดยปี 2567 กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเรือธง คือ ยกระดับ 30 บาทพลัส รวมถึงนโยบาย Quick Win ใน 100 วัน และด้วยความขยันขันแข็งของนายกรัฐมนตรี และสิ่งที่ทีมงานกระทรวงดำเนินการ กำลังผลิดอกออกผล เช่นใน จ.อุดรธานี ใช้เวลา 88 วัน ในการทำนโยบายควิกวินของกระทรวงสาธารณสุข
นายภาณุ กล่าวต่อไปว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีคุณูปการ ปัจจุบันทำให้สภาวะสุขภาพของประเทศอยู่ในระดับแนวหน้า ก่อนพูดต่อไปถึงประเด็นรัฐบาลดิจิทัลว่า ต้องมี 3 ขา คือ PDPA, Cyber Security และ Data Governance พร้อมกันนี้ ขอเสนอแนะไปยังรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ขอเตรียมการให้พร้อมเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ เพื่อให้ทันเวลาหาก พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ผ่านสภา เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
...
ต่อมาเวลา 13.53 น. เป็นการอภิปรายของ นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย บุตรชายของ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงเป็นหลานชายของ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงปัญหาน้ำประปาหมู่บ้านในทุกท้องถิ่นท้องที่ ซึ่งสิ่งที่จะแก้ไขได้คือการรับงบประมาณอุดหนุนเพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ การสร้าง การซ่อม การขยายแหล่งผลิตน้ำประปา
แต่เมื่อถึงเวลาที่องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) จะขอรับเงินสนับสนุน กลับต้องไปเข้าระบบของสํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดยเปิดในระบบ Thai Water Plan ทาง อปท. ก็กรอกข้อมูล แต่หากกรอกไม่ทันก็ปิดระบบ ไม่เพียงเท่านั้นยังต้องกรอกข้อมูลในระบบโซลาร์ด้วย และเป็นเรื่องที่น่าอนาถใจ ระบบโซลาร์ปิดวันที่ 28 ธันวาคม 2566 แต่ระบบ Thai Water Plan เปิดวันที่ 26 ธันวาคม 2566 - 2 มกราคม 2567 ห้วงเวลาสั้นและยังเปิดช่วงวันหยุดข้ามปี หากบุคลากรหยุดในช่วงนี้ก็ไม่มีใครมาลงนามสำรวจออกแบบ งบก็ถูกตกไป
ทั้งนี้ โครงการที่ อปท. เสนอขอรับงบประมาณมี 3,238 โครงการ ผ่านคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) 644 โครงการ และได้รับบรรจุใน พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 เพียง 533 โครงการ อีกทั้ง กนช. ให้คณะกรรมการลุ่มน้ํา เรียงลำดับ แต่เมื่อส่งไปที่ กนช. กลับไม่ได้เรียงตามที่ส่งไป กลายเป็นต้องเรียงใหม่หมด ไม่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่นท้องที่ ซึ่ง อปท. เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนในเรื่องของน้ำมากที่สุด แต่ระบบทำเหมือนคอขวด ในวันที่ให้กรอกข้อมูลปัญหายังไม่เกิด แต่วันที่เกิดปัญหาภัยแล้ง ระบบกลับไม่เปิดให้ดำเนินการ และเชื่อว่าหลังประชุมจากวันนี้ไป 2-3 เดือน ก็จะมีการประกาศสถานการณ์ภัยแล้ง ต้องดึงงบกลางมาแก้ไข
“น้ำประปาหมู่บ้านมันเป็นปัญหา 24 ชั่วโมง คนที่เขาต้องทุกข์ ต้องทนทรมาน น้ำมีก็ไม่สะอาด ถึงเวลาแล้งไม่มีใช้ ผมมีข้อเสนอแนะไปยังคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ท่านต้องพิจารณาเอาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่พิจารณาจากคนที่ส่งโครงการนั้น โครงการนี้เป็นหลัก ไม่อย่างนั้นประปาหมู่บ้านก็อยู่กันอย่างนี้ สส.ก็พูดกันไปให้คอแตก เพราะมันไม่มีงบประมาณ มันไม่มีกระทั่งช่องจะส่งงบประมาณขึ้นไปเลย ผมก็ฝากไปมหาดไทย วันนี้ท่านต้องสู้ ท่านต้องไฟต์ เอาเรื่องน้ำของ อปท. ออกมา ไม่ต้องไปขึ้นตรงเลย ไม่อย่างนั้นก็อยู่กันอย่างนี้”
นายเจเศรษฐ์ กล่าวต่อไปว่า บุคลากรของ อปท. ไม่ใช่ทุกที่จะมีความรู้เรื่องการลงข้อมูลในระบบ แต่ต้องจัดคนลงมาอบรม ไม่เช่นนั้นปัญหาจะไม่ถูกแก้ไข รวมถึงต้องขยายเวลาในการกรอกข้อมูลให้สอดคล้องกับระบบของกระทรวงมหาดไทย โดยหวังว่าสิ่งที่ตนพูด และที่เพื่อน สส.พูดมาตลอดในเรื่องของน้ำประปา จะได้รับการแก้ไขในรัฐบาลนี้เสียที ก่อนจบการอภิปรายที่เวลา 14.01 น.