การอภิปรายร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายรัฐบาลปี 2567 ในวันแรก แม้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะใช้เวลาเสนออย่างยาวนานและละเอียดยิบ แต่ไม่ทำให้ฝ่ายค้านคลายสงสัย รัฐบาลอ้างว่าบ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤติ แต่ทำไมจึงจัดงบประมาณแบบนี้ แบบที่ข้าราชการทำกันอยู่
งบประมาณรายจ่าย 2567 มีวงเงิน 3,400,000 ล้านบาท น่าจะเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันแรกของปีงบประมาณ แต่ต้องล่าช้ามาถึงปัจจุบัน และอาจล่าช้าต่อไปถึงเดือนเมษายน เป็นงบกลาง 606,765 ล้านบาท งบรายจ่ายบุคลากรหรือข้าราชการ 786,957.6 ล้านบาท และงบอื่นๆ
หลังจากที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงจบลง นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา ลุกขึ้นอภิปรายว่า เป็นถ้อยคำที่สวยหรู แต่เนื้อในสะเปะสะปะ จับต้องไม่ได้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่กระทรวงต่างๆทำอยู่แล้ว แยกไม่ออกว่าอันไหนราชการทำอยู่แล้ว อันไหนรัฐบาลจะทำ
คล้ายกับคำอภิปรายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ที่วิจารณ์ว่าเป็นการรื้องบประมาณของรัฐบาลชุดก่อนมาทำใหม่ ไม่มีอะไรใหม่ แต่มีเวลาใช้เงินแค่ 5 เดือน ไม่ถึง 12 เดือนเหมือนกับปีอื่นๆ ส่วน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ผิดหวังเรื่องการแจกเงินดิจิทัล
การแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ให้คนไทย 50 ล้านคน คนละ 1 หมื่นบาท เป็นนโยบายหาเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย และยังหวังว่าถ้าสำเร็จจะสร้างคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ขณะนี้โครงการสะดุดหยุดอยู่ เพราะไม่มีงบอยู่ในงบ 2567 จะต้องเป็นเงินกู้ อาจถึง 5.8 แสนล้านบาท
ถ้าโครงการแจกเงินหมื่นล้มเหลว พรรคเพื่อไทยจะเสียหายอย่างยิ่ง เพราะคุยมาตลอดว่า เป็นพรรคมหาประชานิยม ที่เชี่ยวชาญเรื่องการเงิน หาเงินได้ใช้เงินเป็น ยิ่งกว่านั้นยังมาวิจารณ์ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณไม่มีอะไรใหม่ เป็นเรื่องที่ข้าราชการทำอยู่แล้ว เป็นการบริหารแบบรัฐราชการรวมศูนย์
...
ไม่มีนโยบายขจัดความยากจน ให้สิ้นไป และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่มีการปฏิรูประบบราชการ ไม่มีนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยังคงย้ำอยู่กับระบบ “ผู้ว่าฯซีอีโอ” ไม่กระจายอำนาจสู่ประชาชนในท้องถิ่น แม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เคยสัญญาจะทำในทันที แต่อาจต้องขอเวลาถึง 4 ปี.
คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม