“ทวี” แจงตอบโต้การอภิปรายของ “จุรินทร์” ในส่วนงบราชทัณฑ์ ก.ยุติธรรม ย้ำ แพทย์ยืนยัน “ทักษิณ” ป่วยจริง ชี้ การอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมไปไหนไม่ได้ คือการเสียเสรีภาพ ลั่น ไม่ทำอะไรนอกกฎหมาย ใครผิดต้องดำเนินการ

เมื่อเวลา 16.35 น. วันที่ 3 มกราคม 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงในการอภิปราย วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในเรื่องงบประมาณของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อไม่ต้องการให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน หลัง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่าไม่เห็นด้วยกับกรมราชทัณฑ์ เพราะส่อช่วยเหลือหรือเลือกปฏิบัติกับบางคน ว่า ในส่วนของงบประมาณโครงการผู้ต้องขังที่ได้รับการดูแล จำนวน 6 ปี เป็นเงิน 38,000 ล้านบาท ซึ่งเฉพาะปีนี้เป็นเงินจำนวน 6,600 ล้านบาท และการเป็นรัฐบาลต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม โดยรัฐธรรมนูญยังเขียนไว้ในมาตรา 53 ด้วยว่า รัฐต้องปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อไปว่า พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เกิดขึ้นก่อนที่จะมีรัฐบาลชุดนี้ และเหตุผลที่เป็นสาระสำคัญ ต้องธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม คือรัฐธรรมนูญต้องเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายอื่นจะขัดหรือแย้งไม่ได้ สำหรับ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 ที่มีการแก้ไขเพราะกฎหมายฉบับเดิมไม่สอดคล้องกับนโยบายอาญาระหว่างประเทศ กฎและการปฏิบัติไม่สอดคล้องหลักสากล ไม่ได้มาตรฐานขั้นต่ำของหลักสากล ที่สำคัญ กฎหมายเดิมไม่สามารถจัดการหรือบริการนักโทษ ผู้ต้องขังเฉพาะรายหรือเฉพาะคดีได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจดำเนินการ และไม่สามารถที่จะใช้สถานที่ควบคุม หรือที่คุมขังประเภทอื่น นอกจากนี้ ไม่สามารถนำระบบพัฒนาพฤตินิสัยมาบริหารกับนักโทษหรือผู้ต้องขังหรือผู้ต้องราชทัณฑ์ได้ และยังมีบทเฉพาะกาลในมาตรา 76 ว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือกฎอะไรออกมาใช้ ให้ใช้เดิมไปพลางก่อน แต่ขอให้ไปออกกฎกระทรวง ระเบียบ ให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน เหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2560

...

“การที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตาม หรือให้เป็นไปตามกฎหมาย ผมถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐคนนั้นไม่ธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม เหตุที่เขาออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเ พราะว่าเขาต้องการให้บ้านเมืองเป็นหลักนิติธรรม เนื่องจากเรือนจำที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เรามีผู้ต้องขังประมาณ 280,000 อัตราการคุมขังที่มีอยู่ขณะนี้ได้ไม่ถึง 200,000 เรามีคนเกินอยู่ในราชทัณฑ์ประมาณ 100,000 ที่รุนแรงกว่านั้น คือประเทศไทยถูกตราหน้าว่าหลักนิติธรรมทางอาญาเราสอบตก Rule of Law The World Justice Project ที่นำมาวัดประเทศไทยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ราชทัณฑ์ไทยจากคะแนนเต็ม 1 เราได้ 0.25 ในจำนวนทั้งหมด 44 รายการ เขาประจานราชทัณฑ์ไทยว่า ประการที่ 1 ราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ประการที่ 2 เราไม่สามารถฟื้นฟูหรือแยกการขังได้”

ทั้งนี้ การออกระเบียบราชทัณฑ์ไม่เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี แต่เป็นคณะกรรมการราชทัณฑ์ 17 คน ในจำนวนนี้มี 3 คน มาจากกระทรวงยุติธรรม คือ รมว.ยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และมีหน่วยงานอื่นๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งกฎกระทรวง ระเบียบ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการชุดนี้ โดยเรามีเกณฑ์ที่กฎหมายเขียนไว้ แบ่งเป็นกลุ่ม จำแนกและแยกคุมขัง มีงานวิจัยรองรับมากมาย มีอยู่ประมาณ 18,000 คน เป็นเกณฑ์ที่ต่างชาติก็ยอมรับ กลุ่มพฤตินิสัย 16,000 คน กลุ่มที่ต้องรักษา 1,600 คน กลุ่มสุดท้าย เตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว เพื่อคืนคนดีสู่สังคม ซึ่งระเบียบนี้เกี่ยวกับคณะกรรมการราชทัณฑ์ 

“หลายท่านบอกว่าราชทัณฑ์เลือกปฏิบัติหรือไม่ ราชทัณฑ์ไม่ใช่สถานที่ฆ่าคน ไม่ใช่สถานที่ทรมานคน ถ้าใครเจ็บป่วยก็ต้องไปรักษา การไปรักษาไม่ใช่อดีตนายกฯ ทักษิณ เพียงคนเดียว มีคนจำนวนมากไปรักษา และการรักษาของท่าน ท่านเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม ท่านทักษิณ เป็นนักสร้างสันติภาพ แม้ก่อนหน้านั้นอาจจะมองว่าไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ แต่วันนี้เมื่อต้องการให้บ้านเมืองมีสันติภาพ มีสันติสุข มีความปรองดอง ท่านก็กลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม การป่วยของท่านก็เกิดก่อนรัฐบาลนี้จะเข้ามา ท่านก็ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล กฎหมายราชทัณฑ์และกฎกระทรวงให้ความสำคัญกับแพทย์สูงสุด กรณีผู้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่เกี่ยวเนื่องกับเรือนจำ กฎหมายเขียนว่าที่นั่นคือเรือนจำ การอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมไปไหนไม่ได้ ก็คือการเสียเสรีภาพแล้ว ไม่ว่าจะห้องสี่เหลี่ยมขนาดไหน”

ส่วนกรณีที่หลายคนสงสัยว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ป่วยจริงหรือไม่ รมว.ยุติธรรม ชี้แจงในส่วนนี้ว่า ตนเองไม่เคยไปเยี่ยม แต่ก็ถามเพราะต้องรับผิดชอบ โดยแพทย์ยืนยันว่า นายทักษิณ ป่วยจริง มีอาการเยอะ ขณะที่ประเด็นการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ต้องให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยมีเหตุผลกับแพทย์ผู้รักษา และหลักฐานอื่นประกอบ ปัจจุบัน อธิบดีกรมราชทัณฑ์ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน อยู่ในกระบวนการที่จะส่งมาที่ รมว.ยุติธรรม แม้ตนจะเป็นผู้ทราบ ก็ต้องทราบให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งคนอาจจะมีความรู้สึกกับ นายทักษิณ แตกต่างกัน แต่ถ้าเรายึดกฎหมายเป็นหลัก ในรายงานมีแพทย์หลายคนยืนยันว่าป่วย และผู้ตรวจการแผ่นดินก็ร่วมตรวจสอบด้วย

ดังนั้น งบประมาณที่ นายจุรินทร์ อภิปราย 38,000 ล้านบาท รวมแล้ว 6 ปี ซึ่งในแต่ละปี เป็นค่าอาหารไปเกือบ 5,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่ายาม ค่าข้าราชการ และในแต่ละปีเงินก้อนนี้ก็ไม่พอ พอถึงช่วงเดือนมิถุนายน ก็ต้องมาของบกลาง ก่อนกล่าวต่อไปว่า “ในฐานะ รมว.ยุติธรรม ที่นายกรัฐมนตรีอยากให้ยกระดับความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม ผมจะไม่ทำอะไรที่นอกกฎหมาย และผมจะเข้มแข็ง ใครก็ตามเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างไร ถ้ามาทำการฝ่าฝืนกฎหมาย กระทำผิด จะต้องถูกดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา” 

พ.ต.อ.ทวี ระบุในช่วงท้ายว่า งบกรมราชทัณฑ์ เราต้องการจะพัฒนาเป็นสถานที่สร้างคน เพื่อให้คนกลุ่มนี้ออกมาสู่สังคม ได้สร้างชาติ อีกทั้งเชื่อมั่นว่าความยุติธรรมอาจจะใช้เงินไม่มากนัก แต่ถ้าบ้านเมืองมีความยุติธรรม ปัญหาต่างๆ จะได้รับการแก้ไข แล้วผู้ที่มารังเกียจหรือโกรธคนอีกหลายหมื่นคนที่เขาอยู่ในที่นี้ เขาจะได้ออกไปรับประโยชน์ ในคดีระหว่างการพิจารณาที่ศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด ตนกำลังออกกฎกระทรวง โดยใช้ ป.วิอาญา มาตรา 89/1 ซึ่งมีช่องให้ทำ ขณะนี้กำลังทำประชาพิจารณ์ อย่างน้อยน้องๆ เด็กๆ นักต่อสู้ ต่อไปนี้ก็อาจจะใช้ช่องนี้ คือรัฐธรรมนูญเขียนว่า ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสิน จะปฏิบัติต่อผู้นั้นเหมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ จึงต้องมาทำหน้าที่นี้ และยืนยันว่าจะรักษาไว้ซึ่งความสูงสุดหรือความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ 16.53 น.