“เศรษฐา” กระชับความสัมพันธ์และเห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือทุกด้านกับออสเตรเลีย พร้อมหารือทวิภาคีกับผู้นำของหลายประเทศ เชิญชวนลงทุนในไทย แง้ม หลังจากนี้น่าจะได้รับข่าวดี
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 เมื่อเวลา 11.35 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งช้ากว่าไทย 15 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือทวิภาคีกับ นายแอนโทนี แอลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 30 ณ ห้องหารือทวิภาคี 1 ศูนย์ประชุมมอสโคนีเซ็นเตอร์ ฝั่งทิศใต้ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย โดย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลียในปีหน้า พร้อมจะพาภาคเอกชนร่วมคณะไปด้วย โดยไทยและออสเตรเลียมี FTA ที่มีความก้าวหน้ามาก มีการแลกเปลี่ยนและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนที่ใกล้ชิด การท่องเที่ยวเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล และเป็นส่วนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยคนออสเตรเลียนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยจำนวนมาก ในขณะที่คนไทยก็นิยมท่องเที่ยวออสเตรเลีย เนื่องจากมีความปลอดภัย อีกทั้ง มีบริษัทชั้นนำย้ายฐานการผลิตมาไทยเป็นจำนวนมาก อาทิ ด้านรถยนต์ไฟฟ้า การตั้งศูนย์ Data Center เป็นต้น รวมถึงจะมาลงทุนในไทยด้วย

...
ขณะที่ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แสดงความยินดีและเชื่อมั่นในการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี โดยทั้ง 2 ประเทศ ถือเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และไทยถือเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของออสเตรเลีย ทั้งทวิภาคี และในกรอบอาเซียน ยินดีที่ไทยตอบรับเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ในเดือนมีนาคม 2567 ทั้งนี้ ออสเตรเลียมีคนไทยอาศัยอยู่จำนวนมากในภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาคธุรกิจ และอาหาร เป็นต้น รวมถึงมีความร่วมมือสถาบันการศึกษาระหว่างกันอย่างดี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อสูงมากเนื่องจากสถานการณ์ระหว่างประเทศ จึงทำให้สินค้าในประเทศราคาสูงขึ้น และประชาชนได้รับผลกระทบ

นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ยังกล่าวต่อไปว่าออสเตรเลียให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลียอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย และยินดีที่ผู้นำอาเซียนทุกท่านได้ตอบรับเข้าร่วมการประชุมแล้ว โดยเศรษฐกิจระหว่างออสเตรเลียกับอาเซียนมีความเกื้อหนุนกันอย่างดี พร้อมกล่าวชื่นชมการจัดการประชุมเอเปก 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

นอกจากนี้ ทางด้าน นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ได้เปิดเผยถึงการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยในระดับทวิภาคีกับผู้นำของหลายประเทศ ทั้งญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย และรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ว่า ในส่วนของแคนาดาแม้ยังมาลงทุนในไทยไม่มากนัก แต่แคนาดามีความชำนาญในธุรกิจพลังงานสะอาด นายกรัฐมนตรีของไทยจึงเชิญชวนมาผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดในไทย และร่วมมือกันในระดับประชาชนโดยเฉพาะด้านการศึกษาที่แต่ละปีมีคนไทยไปเรียนในแคนาดาเป็นจำนวนมาก

ส่วนการหารือกับทางสหรัฐฯ นายเศรษฐา พูดคุยเรื่องความสำคัญของเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทางสหรัฐฯ มีความเชี่ยวชาญ ขณะนี้ประเทศไทยพร้อมจะเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปตามภูมิภาคต่างๆ พร้อมย้ำจุดยืนทางการเมืองให้กับทางสหรัฐฯ มั่นใจว่า เรายึดมั่นในกฎบัตรของสหประชาชาติไม่เปลี่ยนแปลง


ทางด้าน นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ระบุว่า การที่สหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพจัดให้นายกรัฐมนตรีของไทยนั่งรับประทานอาหารค่ำติดกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ถือเป็นการให้เกียรติประเทศไทยอย่างมาก เพราะจะเป็นชั่วโมงสำคัญที่ผู้นำสหรัฐฯ และไทย จะได้พูดคุยกันอย่างใกล้ชิดหลังจากที่ได้ถ่ายภาพหมู่ของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกร่วมกันแล้ว อีกทั้งเชื่อว่าการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกในครั้งนี้ จะทำให้ทุกประเทศได้เห็นความชัดเจนในการขับเคลื่อนของรัฐบาลชุดใหม่ของไทยอย่างชัดเจน นอกเหนือไปจากการที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจจะมาร่วมปรับทัศนคติระหว่างกันเพื่อสร้างเสถียรภาพในความร่วมมือทางการค้า ปรับตัวให้เข้ากับพลวัตของธุรกิจโลกทั้งเรื่องของการผลักดันการใช้พลังงานสะอาด และประเทศไทยเองก็น่าจะได้รับข่าวดีในการลงทุนและรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามมา.
