“ไวไฟ” แต่ก็รีบดับไฟ เคลียร์คิวร้อนเร่งด่วนเหมือนกัน

แม้ถูกมองว่าเป็นผู้นำซีอีโอ “จุดเดือดต่ำ” แต่ผ่านมาเดือนกว่าๆบนเก้าอี้ผู้นำประเทศ “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” ก็ยังคอนโทรลอารมณ์ตัวเองได้

ร้อนแรง กร้าวห้าวเหิมจริง แต่ก็โฟกัสเป้าไปที่เนื้อหา อย่างกรณีล่าสุด สำนักข่าวออนไลน์บางแห่ง ออกบทวิเคราะห์ภาคภาษาอังกฤษ ถึงท่าทีของผู้นำไทย บอกปัดรับลูก สส.พรรคก้าวไกล เสนอร่างกฎหมายยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

บทวิเคราะห์ถล่มใส่ชุดใหญ่ จน “นายกฯเศรษฐา” ต้องโพสต์แจงโต้ข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นนายกฯที่น่าผิดหวัง เปลี่ยนจุดยืน ผิดคำมั่นสัญญา ถอยห่างจากประชาธิปไตย ประนีประนอมกองทัพเพื่ออยู่ในอำนาจ

สวนกลับ อย่าดูถูกเสียงประชาชน “ผมไม่ใช่หุ่นเชิดกองทัพ”

“ถ้าผมเป็นหุ่นเชิด ก็จะเป็นหุ่นเชิดของประชาชน”

นายกฯ ยังร่ายยาวอธิบายความชนวน “ยุบ กอ.รมน.” ยืนยันไม่เคยเป็นนโยบายหาเสียงเพื่อไทย ไม่เคยมีในคำแถลงนโยบาย แต่รัฐบาลตั้งใจทำให้ กอ.รมน.-กองทัพทันสมัย สอดคล้องค่านิยมประชาธิปไตย

ที่น่าสนใจ งานนี้ “นายกฯเศรษฐา” รู้ดีผู้คนคาดหวัง จึงย้ำจุดยืนรัฐบาลเชื่อในการเปลี่ยนแปลง “ค่อยเป็นไป” ไม่เผชิญหน้า ล้อไปกับเสียงวิจารณ์ ไม่จุดไฟขัดแย้งกองทัพเพื่อ “ประคองอำนาจ”

อีกทางจะมองว่า แล่นเรือล้อคลื่นลมกระแทก ก็คงมองไม่ผิด

...

เพียงแต่ฝ่ายที่เห็นต่าง ก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากผู้นำ โดยเฉพาะบทบาทกองทัพกับการเมือง รวมทั้ง กอ.รมน.อีกเป้าหมายรื้อโละ

ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การใช้งบฯเกือบหมื่นล้านบาทต่อปี มี “งบๆลับ” ตรวจสอบยาก ขณะที่ภารกิจซ้ำซ้อนหน่วยงานอื่นๆ ทั้งดูแลสาธารณภัย น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ ยาเสพติด แถมสยายปีกมีบทบาทระดับจังหวัด

กลายเป็น องค์กรรัฐซ้ำซ้อน รัฐซ้อนรัฐ

ที่สำคัญคือ ความหวาดระแวงบทบาท กอ.รมน.กับการเมืองที่ผ่านมา ถูกมอง สกัดกั้นความเห็นต่าง คุกคามกิจกรรมประชาธิปไตย ใช้ไอโอปั่นป่วน แทรกแซงความเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้ามอำนาจรัฐ

ถึงวันนี้ก็น่าจะมีบทสรุป หากไม่ยุบไม่เลิก ก็ต้องปรับรื้อ ยกเครื่องขนานใหญ่

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็คงต้องเดินสูตร “ค่อยเป็นค่อยไป” ประคองอำนาจ

กับเป้าหมายใหญ่ของรัฐนาวาเพื่อไทย ผ่านมาเดือนกว่า ยังทำได้แค่งานเฉพาะหน้า ลดค่าครองชีพชาวบ้าน ค่าไฟ ค่ารถไฟฟ้า หั่นราคาน้ำมัน

ส่วนโปรแกรมนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท กระตุ้นเศรษฐกิจ ยังแค่เตรียมตัว

“เรือธง” ยังไม่ทันได้แล่นออกจากฝั่ง

โดยคาดว่าเร็วๆนี้น่าจะเป็นรูปเป็นร่าง หลังเลื่อนทุกระดับข้อสรุป ทั้งในทีมอนุกรรมการขับเคลื่อนทีมชุดใหญ่ไปยัน ครม. หนำซ้ำมีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะๆ ปรับแต่งโครงการแจกเงิน

ลดจำนวนประชาชนที่จะได้รับอัดฉีด ช่วยหั่นงบฯที่จะใช้จ่าย ที่มาของเงิน อาจตั้งงบฯผูกพัน หรือตัดสินใจกู้มาใช้ ไปจนกระทั่งเลื่อนคิวแจกจากที่เคยปักธง ก.พ.ปีหน้า ไป ก.ย.2567

ธงใหญ่รัฐบาลเพื่อไทย เป้าหมาย “นายกฯเศรษฐา” ปรับแต่งได้ แต่ไม่ “ล้มเลิก” คิว “แจกเงิน” แน่

และวันนี้นอกจากคนรัฐบาลย้ำความจำเป็น นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ กูรูเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เห็นพ้อง มองเศรษฐกิจยังไม่ผงกหัว ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวน่าห่วง ซ้ำด้วยภาวะสงครามตะวันออกกลางส่อขยายวง

เป็นไฟต์บังคับต้องอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ

นั่นก็ไม่ต่างจากหลายประเทศ ในภาวะเศรษฐกิจโลกทรงๆ ส่อทรุด ล่าสุด มีโมเดลนำร่องจากประเทศญี่ปุ่น นายกฯฟูมิโอะ คิชิดะ เพิ่งประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่กว่า 17 ล้านล้านเยน หรือราว 4 ล้านล้านบาท เพื่อเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

ทั้งแจกเงิน ช่วยภาคครัวเรือน ลดภาษี กระตุ้นการลงทุนในประเทศ

คิวอัดฉีดเป็นหมุดหมายที่รัฐบาล “เศรษฐา” เลี่ยงไม่ได้

เพียงแต่จะปรับแต่ง “เรือธง” ให้ลงตัวที่สูตรใด ไม่ให้เรือลำนี้ โคลงเคลง เสี่ยงชนหินโสโครกล่มจม

ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยบักโกรกในระยะยาวไปใหญ่.

ทีมข่าวการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม