“ราเมศ” ยัน ประชาธิปัตย์ให้ความร่วมมือแก้รัฐธรรมนูญ ยัน ต้องไม่แตะหมวด 1 และ 2 เผย ทำงานร่วมกับก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้านได้ แต่จะไม่ร่วมในเรื่องที่อุดมการณ์ต่างกัน 

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ในฐานะที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์แสดงเจตจำนงในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ที่ผ่านมามีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ตั้งแต่เรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิในที่ดินทำกิน เรื่องกระจายอำนาจ เรื่องการป้องกันการทุจริต รวมไปถึงการประกาศอย่างชัดเจนที่จะแก้ไขในหมวดของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ง่ายขึ้น โดยไม่ควรจะต้องใช้เสียงของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มาเป็นกรอบกำหนดที่ตายตัว และให้ใช้เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา ที่สำคัญกว่านั้นคือมีหนึ่งฉบับที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้ง จนเป็นที่มาที่ทำให้การเลือกตั้งในปี 2566 เป็นการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ 

นายราเมศ กล่าวต่อไป เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นเจตนารมณ์อย่างชัดเจนของพรรค ที่มีความมุ่งมั่นแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ขณะนี้แม้รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อที่จะกำหนดกรอบของการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และในส่วนของพรรคยังไม่ได้มีมติที่จะมอบหมายใครคนใดคนหนึ่งเพื่อไปเข้าร่วมในคณะกรรมการชุดดังกล่าว แต่ยืนยันว่าพรรคพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ โดยประการสำคัญคือในการแก้ไขครั้งนี้ จะต้องไม่มีการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2

...

ในส่วนของพรรคก้าวไกลที่ถือได้ว่าเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมถึงเรื่องของญัตติที่ได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ในรายละเอียดนั้น ยอมรับว่าในส่วนของเนื้อหาที่จะนำไปสู่การตั้งคำถามในการทำประชามติเป็นการกำหนดไว้กว้างเกินไป จนมีประเด็นที่ทำให้สังคมเกิดความสงสัยเช่นกันว่า หากไม่มีระบุไว้ในขั้นตอนกระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ไปแตะหมวด 1 และหมวด 2 หากเรื่องดังกล่าวไม่มีความชัดเจน ก็ยากที่จะผ่านกระบวนการต่างๆ ทั้งในขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร และในส่วนของฝ่ายบริหารที่รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้น 

ดังนั้น เมื่อเป็นประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความสำคัญขนาดนี้ ทุกฝ่ายจะต้องตั้งหลักให้ดี เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากขึ้น และการจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาแนวร่วม แสวงหาจุดยืนร่วมกันเพื่อที่จะให้เกิดผลสำเร็จ ด้วยการยึดหลักระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิของประชาชน ไม่ควรตกหล่นไปดังเช่นรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่จะต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ เพื่อที่จะได้เป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป แต่หากทุกฝ่ายยังยึดถือประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง ก็ยากที่จะทำให้แก้ไขรัฐธรรมนูญประสบผลสำเร็จ

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เผยอีกว่า การทำประชามติถึง 2 ครั้ง ทุกคนย่อมมองเห็นว่าต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อดำเนินการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนผ่านการทำประชามติ สำหรับพรรคได้ติดตามเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องการตั้งคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น จะเป็นการตั้งขึ้นเพื่อยื้อเวลาหรือไม่นั้นก็ไม่มีใครตอบได้ เพราะทุกการกระทำของรัฐบาลก็จะเป็นคำตอบได้ในวันข้างหน้า 

“การที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว ไม่ใช่เพราะไม่ให้ความร่วมมือ เราให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ สิ่งไหนที่อยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือทั้งในสภาและนอกสภา แล้วก็ยืนยันอีกครั้งว่า ในส่วนของการเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านกับพรรคก้าวไกล ร่วมทำงานในรัฐสภาได้ แต่เรื่องใดที่เรามีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน เราจะไม่ไปร่วม โดยเฉพาะหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของหมวด 1 และหมวด 2 ก็คงต้องเดินกันคนละทางในเรื่องนี้”.