ไม่น่าเชื่อว่า สว.ผู้แทนปวงชนชาวไทย จะมีแนวคิดต่อต้านการแก้ไขถึงขนาดนี้ ในขณะที่คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำลังเดินสายรับฟังความเห็นของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน สว.ท่านหนึ่งซึ่งเป็นรอง กมธ.ให้สัมภาษณ์สื่อ

โดยตั้งคำถามว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญไปทำไม ได้ประโยชน์อะไร ถ้าแก้แล้วประชาชนมีงานทำ เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้นก็ควรแก้ แต่ยังไม่เห็นประโยชน์ เป็นการแก้เอามัน และยิ่งไปตั้ง ส.ส.ร. และทำประชามติ ยิ่งทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ การแก้รัฐธรรมนูญยังทำให้เกิดความขัดแย้งในชาติ ในที่สุดคงไปไม่ถึง

สว.ท่านนี้ซึ่งเป็นรองประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ คนที่หนึ่ง เริ่มต้นให้สัมภาษณ์ด้วยประโยคที่ว่า คำถามหนึ่งซึ่งไม่ค่อยได้พูดให้ประชาชนทราบคือ “จะแก้ไขรัฐธรรมนูญไปทำไม” อาจจะไม่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวในทางการเมืองที่ผ่านมา ที่มีกลุ่มต่างๆ ทั้ง สส.และภาคประชาชน ที่ออกมารณรงค์

บางกลุ่มล่ารายชื่อประชาชนได้นับแสนๆคน เพื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นฉบับพิสดาร หรือวิปริต ขัดหลักการประชาธิปไตยชัดแจ้ง เช่นให้ 250 สว.ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง มีสิทธิเลือกหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี แกนนำบางพรรคคุยว่าเป็นรัฐธรรมนูญ “ที่ดีไซน์เพื่อพวกเรา”

คำว่า “พวกเรา” หมายถึงพรรคการเมืองที่คณะรัฐประหาร คสช.ตั้งขึ้น เพื่อสืบทอดอำนาจ แม้แต่บทบัญญัติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ขัดกับหลักการประชาธิปไตยสิ้นเชิง  เพราะระบุว่าการแก้ไข ต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว.อย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 84 คนขึ้นไป มิฉะนั้นร่างแก้ไขจะต้องตกไป

แม้ว่าจะได้รับความเห็นชอบจาก 500 สส.ทั้งสภา ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนทำกัน แต่รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ให้ สว.แต่งตั้ง เลือกนายกฯได้อย่างน้อย 2 วาระ หรือ 8 ปี นักการเมืองทุกคนที่เป็นนักประชาธิปไตย ล้วนแต่เห็นชอบกับการแก้ไข

...

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มุ่งจะหางานหรือรายได้ ให้ประชาชนโดยตรง แต่ถ้าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแท้ ประชาชนจะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิเสรีภาพในการรับการศึกษา มีความเสมอกันในกฎหมาย ได้รับความยุติธรรมโดยเสมอหน้า หน้าที่ที่สำคัญสุดของ กมธ.พัฒนาการเมืองฯคือ การพัฒนาประชาธิปไตย.

คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม