“นายกฯ เศรษฐา” สวมผ้าไทยสีสันสดใส นำประชุม คกก.ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งแรก “แพทองธาร ชินวัตร” ยิ้มแย้มรับ ตื่นเต้นเข้าทำเนียบรัฐบาลในรอบ 17 ปี ลุยสร้างงาน รายได้ และอาชีพ ให้คนไทยกว่า 20 ล้านคน
วันที่ 3 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เข้าร่วมประชุมในฐานะรองประธานคณะกรรมการฯ ดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินออกจากตึกไทยคู่ฟ้า มายังทางเดินเชื่อมอาคารตึกสันติไมตรี โดยนายกรัฐมนตรีสวมสูทลายผ้าขาวม้าสีสันสดใส พร้อมกล่าวว่า ใส่ชุดลายผ้าขาวม้าประเดิมประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์นัดแรก ซึ่งชุดออกแบบโดยดีไซเนอร์ไทย แต่ไม่ใช่ผ้าขาวม้าที่ได้มาจากการช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พร้อมพูดติดตลกว่า ผืนใหญ่ไม่พอตัด และที่เลือกสีนี้เพราะชอบสีสดใส และนายกรัฐมนตรียังได้ยกนิ้วชี้ไปที่คณะทำงานที่เดินตาว่า คนข้างหลังก็มีผ้าขาวม้าผูกเหมือนกัน
ในขณะที่ น.ส.แพทองธาร ก็ผูกผ้าขาวม้าที่บริเวณเอว มีสีหน้ายิ้มทักทายสื่อมวลชน โดยกล่าวว่า เข้าทำเนียบรัฐบาลวันแรกบรรยากาศดี สวยมากๆ ชอบ และไม่ได้เข้าทำเนียบรัฐบาลนานถึง 17 ปี ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก รู้สึกตื่นเต้น
จากนั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า การประชุมวันนี้เข้ามาในห้องประชุมก็มีแต่รอยยิ้ม ทุกคนยิ้มแย้ม สดชื่นแจ่มใส ให้ความสำคัญกับการประชุมในครั้งนี้ และขอขอบคุณทุกคนที่สละเวลามาร่วมหารือกัน ครั้งนี้เป็นการหารือระหว่างหน่วยงานและผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทยอย่างบูรณาการ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายให้ความสำคัญกับซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมภาครัฐ และเชื่อมั่นของประเทศไทยในเวทีโลก
...
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องของไทยหลากหลายคณะ ผ่านอำนาจที่อาจเกี่ยวข้องกับขอบเขตงานของรัฐบาล และจำเป็นต้องมีกลไกรับผิดชอบโดยตรงให้มีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากขึ้น รัฐบาลจึงตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นมา
จากนั้น น.ส.แพทองธาร กล่าวในที่ประชุมว่า คณะกรรมการชุดนี้จะสร้างระบบนิเวศแก่อุตสาหกรรมของไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยแรงงานทักษะสูง ด้วยอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในมิติต่างๆ และเพิ่มความหลากหลายทางวัฒนธรรมของไทย ดังนั้นศักยภาพของวัฒนธรรมและคนไทย หากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จะสามารถไปได้ไกลอย่างแน่นอน และจะทำนโยบายนี้ควบคู่กับนโยบายอื่นๆ ด้วย
โดยแรงงานกว่า 20 ล้านคน จะถูกผลักดันให้เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง คาดการณ์ว่าอย่างน้อยจะมีรายได้เข้าประเทศถึง 4 ล้านล้านบาทต่อปี รวมถึงการจ้างงานเพิ่ม 20 ล้านตำแหน่ง ได้การเจริญเติบโตเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในผู้นำประเทศของโลกในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ การพัฒนาคน การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ภายในประเทศ
สำหรับวันนี้จะมีการมานำเสนอ 11 สาขา ได้แก่ อาหาร, กีฬา, เทศกาล (เฟสติวัล), เกม, ภาพยนตร์, หนังสือ, ดนตรี, การออกแบบ, แฟชั่น, ท่องเที่ยว และศิลปะ โดยขั้นตอนนี้จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะถูกจัดตั้งขึ้นในอนาคต รวมถึงจะปรับแก้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่มีอยู่ อาจเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายที่มีมานานแล้วและไม่สอดคล้องกับแนวทางในปัจจุบัน ต้องทำให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างแรงจูงใจด้านภาษี พัฒนาและเพิ่มพื้นที่ในการแสดงผลงานอย่างไร้ขีดจำกัด รวมไปถึงสร้างศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เพื่อต่อยอดเป็นสิ่งที่มั่นคงในระดับชาติ จากนั้นจะสร้างแนวรุกระดับโลก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่อยู่ในกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ทำให้สินค้าของคนไทยมีโอกาสที่จะสามารถร่วมงานกับต่างชาติได้ ไม่ว่าจะเป็นงานเทศกาลให้คนไทยมีส่วนร่วมด้วย
จากการทำงานทั้งหมดนี้ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ในอนาคตอันใกล้ อุตสาหกรรมของประเทศไทยจะเข้มแข็ง และเป็นที่รู้จักมากขึ้น ประเทศไทยต้องเป็นที่รู้จักมีชื่อเสียง ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศและกระตุ้น 20 ล้านครอบครัว ยกระดับให้ประเทศที่มีรายได้สูง.