พิธีอำลาตำแหน่ง ผบ.ตร.ของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ท่ามกลางสายฝน แม้จะยังไม่มีพิธีส่งมอบตำแหน่งเหมือนที่เคยปฏิบัติเพราะการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ มีอุปสรรคขวากหนามมากมาย ทั้งยังเป็นเวลาที่กระชั้นชิด มีความไม่ปกติอยู่หลายจุด ทำให้พิธีอำลาตำแหน่ง ผบ.ตร. ครั้งนี้อยู่ในช่วงของรอยต่ออำนาจและอยู่ในช่วงบรรยากาศของความอึมครึม

แม้จะแต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร.ที่มีอาวุโสต่ำสุดในจำนวนแคนดิเดต ผบ.ตร. และมีการยืนยันมาจากประธาน ก.ตร. นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ว่าการแต่งตั้ง ผบ.ตร.เป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่าง แต่เมื่อนำ ระเบียบการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาประกอบคำอธิบายแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่ตรงปก เช่น ระเบียบ สตช. ให้ความสำคัญของหลักการอาวุโส โดยให้คะแนนลำดับอาวุโสถึง 50% ที่เหลือเป็นผลงานตามสายงานและความประพฤติ

เพราะฉะนั้นคนที่สมควรจะได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร. โดยตรรกะแล้วควรจะเป็น พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.อาวุโสลำดับที่ 1 หรือถ้าจะให้เหตุผลว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เหลืออายุราชการอีกเพียงปีเดียว พล.ต.อ.รอย ก็เหลืออายุราชการอีกเพียงปีเดียว และแต่ละท่านก็มีผลงานไม่น้อยหน้ากัน

ดังนั้น ก.ตร.และนายกฯเศรษฐา จะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมถึงลงมติเลือก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็น ผบ.ตร. ทำไมไม่เลือก พล.ต.อ.รอย หรือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อายุราชการถึงปี 2574 และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ อายุราชการถึงปี 2569 ทั้ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ยังสามารถทำงานต่อเนื่องได้

ประเด็นนี้จะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนำเรื่องไปร้อง ศาลปกครองหรือ ป.ป.ช. หรือไม่ ยังเร็วเกินไป แต่มีคดีร้องเรียน การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นธรรม ถูกศาลสั่งให้คืนตำแหน่งและเอาผิดกับคนที่มีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายระดับนายกฯมาแล้วในอดีต

...

ต้องแยกให้ออก ระหว่างการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือความขัดแย้งระหว่าง ผู้บริหารใน สตช. ออกจาก การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการใน สตช. เนื่องจาก กฎหมายอาญามาตรา 157 มีผลบังคับใช้กับพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐทุกกรณี

คดีบ่อนพนันออนไลน์ที่มีเจ้าหน้าที่ไปพัวพัน คดีผู้มีอิทธิพลส่วย ที่มีเจ้าหน้าที่ไปเกี่ยวข้อง เรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ ล้วนแต่มีกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายแพ่งวิธีพิจารณาความแพ่ง ใช้บังคับเป็นมาตรฐานอยู่แล้วไม่ใช่แค่เรื่องทางวินัย แต่มีโทษทางอาญาด้วย ยิ่งเจ้าหน้าที่ทำผิดเสียเองต้องรับโทษหนัก

ถ้ามีแค่ภาพของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล กับ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ไปจับมือปรับความเข้าใจกันแล้วบอกว่าไม่มีความขัดแย้งใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แปลว่าความอึมครึมทุกอย่างจะยุติลง ยิ่งจะทำลายความน่าเชื่อมั่นของสถาบัน และความเป็นผู้นำของนายกฯเศรษฐาในฐานะประธาน ก.ตร.

ฉายหนังตัวอย่างมาน่าสนใจขนาดนี้ จะมาหักมุมตอนจบทัวร์ลงแน่นอน.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม