ต้องทำลายระบบการทุจริตของตำรวจ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
เปิดประเด็นถึงหัวใจการปฏิรูปตำรวจ ไม่ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ยอมรับคำว่าปฏิรูปหรือไม่ แต่การปฏิรูปบนเป้าหมายที่ตำรวจส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับ “เศรษฐกิจใต้ดิน” การฟอกเงิน
ตำรวจส่วนหนึ่งกลายเป็นองค์กรอาชญากรรม
กองผลประโยชน์รวมกันมันถึงใหญ่มโหฬาร
“ตำรวจจำนวนหนึ่งรวมตัวกันเพื่อก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือก่ออาชญากรรมทางสังคม
ทำให้ตำรวจน้ำดีจัดการตำรวจเหล่านี้ทำได้ยาก
เพราะมีคนให้การคุ้มครอง มีผู้ใหญ่คอยดูแล และตำรวจยังเข้าไปเกี่ยวพันกับนักการเมือง เห็นได้ชัดเวลารัฐบาลเปลี่ยนแปลง ตำรวจเหล่านี้ก็อยู่ภายใต้อุปถัมภ์ของนักการเมือง มีโอกาสเจริญก้าวหน้ามากกว่า
ความสัมพันธ์แบบนี้ ระบบตำรวจที่ไม่สุจริต ประเทศไทยก็เดินไม่ได้ ต้นทุนทำธุรกิจสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบกระเทือน”
...
ตำรวจยังเป็นองค์กรให้การคุ้มครองบรรดาผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นทั่วไป รวมถึงนักการเมืองส่วนหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์แบบพวกพ้อง มาจากสถาบันเดียวกัน ความสัมพันธ์แบบเครือญาติ มีผลต่อพิจารณาเลื่อนตำแหน่งต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม
ต้องทำลายระบบสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แบบดั้งเดิม
โดยเฉพาะรัฐบาลที่เข้ามาในช่วงความขัดแย้งระหว่างตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงหลายคดีกระทบต่อภาพลักษณ์ สตช. และมีปัญหาอาชญากรรมที่รุนแรงปะทุขึ้นก่อนนายกฯ รับตำแหน่ง
ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อ สตช.เสียหายมากเป็นประวัติการณ์ นับเป็นช่วงเวลาที่นายกฯ ลำบากใจ จะทำให้องค์กรนี้เดินหน้าได้อย่างมีความโปร่งใส ประชาชนไว้วางใจได้อย่างไร
ภาพลักษณ์ สตช.ยิ่งแย่ อยู่ในช่วงขาลงอย่างรุนแรง
ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ
ยิ่งเป็นบันไดขั้นแรกของกระบวนการยุติธรรม ต้องรีบดำเนินการ รศ.ดร.สังศิต บอกว่า ใช่ เพราะสำนวนทั้งหมดมาจากตำรวจ ถ้าบิดเบี้ยวก็เป็นไปตลอดกระบวนการ จะเกิดความไม่เป็นธรรม
สตช.เกี่ยวพันกับชีวิตของประชาชน มากยิ่งกว่าหน่วยราชการอื่นๆ โดยเฉพาะความปลอดภัย แต่ประชาชนผิดหวังอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถพึ่งพาได้จริง จึงเป็นวาระที่ประชาชนอยากเห็นมากจริงๆ
ในฐานะเคลื่อนไหวให้ปฏิรูปตำรวจกว่า 3 ทศวรรษ มีอุปสรรคอะไรทำให้การปฏิรูปไม่เดินหน้าไปไหน รศ.ดร.สังศิต บอกว่า สตช.มีลักษณะพิเศษ แตกต่างจากองค์กรราชการอื่นๆ
คือไม่มีตำรวจที่มีความคิดต้องการปฏิรูปองค์กรเลย นับเป็นองค์กรที่สามารถหลอมรวมให้เป็นวัฒนธรรมอันเดียวกันได้
สตช.ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบ
สัมผัสได้โดยใครแตะต้ององค์กรนี้จะโดนฟ้องหมิ่นประมาท เช่น ผมโดน ผบ.ตร.หลายคนฟ้อง โดนมาตลอด กระทั่งเป็น สว.ยังโดนฟ้อง คนที่ฟ้องผมบางคนก็มาเป็น สว.อยู่เวลานี้ด้วย
ทั้งที่ไปวิจารณ์ แนะนำด้วยความปรารถนาดี เขามองว่าเป็นการหมิ่นศักดิ์ศรีทุกที กลายเป็นใช้กฎหมายในทางที่ไม่สมควร ไม่ดูเจตนาที่อยากเห็นองค์กรนี้มีความสุจริต บริการประชาชน
เป็นองค์กรพลเรือนเหมือนองค์กรตำรวจทั่วโลก ไม่ใช่สร้างให้เป็นกองทัพที่ไปเรียนรู้กฎหมายทุกอย่างที่เป็นอาชญาวิทยา มองทุกเรื่องเป็นอาชญาวิทยา แล้วปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความรุนแรงเกินไปหรือไม่
เห็นได้จากระดับบิ๊กตำรวจบางคน ที่ไปเล่นงานคนอื่น ใช้หน่วยคอมมานโดพร้อมอาวุธสงคราม พอบ้านตัวเองถูกค้นบ้าง ก็เจอหน่วยคอมมานโด
คำถามคือเวลาไปสวัสดีบ้านใคร ทำไมต้องใส่ชุดคอมมานโดไปแบบโกลาหล ประเทศไทยวิกฤติขนาดนั้นเลยหรือ ตำรวจเว่อร์ไปหรือไม่ มองตัวเองเป็นกองทัพ จะไปรบกับใคร
ในเมื่อกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ยอมปฏิรูป เวลานี้ต้องขึ้นอยู่กับกระแสสังคม และต้องเป็นวาระของนายกฯ หรือรัฐบาล รศ.ดร.สังศิต บอกว่า ต้องอาศัยภาวะผู้นำ และเจตจำนงที่แน่วแน่ของรัฐบาล
หากผู้นำไม่เด็ดเดี่ยวคงเห็นการปฏิรูปเกิดขึ้นยาก
ที่สำคัญสุด คือรัฐบาล ประชาชนเรียกร้อง อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลหูตึง หรือความจำสั้นก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ทำไมรัฐบาลแต่ละชุดไม่กล้าแตะต้อง สตช.อย่างจริงจัง รศ.ดร.สังศิต บอกว่า ในระบบตำรวจมีข้อมูลดี รู้ว่าใครเป็นอาชญากร ใครเป็นองค์กรอาชญากรรม บางทีก็เลี้ยงเอาไว้
ตำรวจเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม มีบทบาทต่อนักการเมืองมากกว่าทหาร ยกเว้นวันยึดอำนาจ โดยทั่วไปนักการเมืองไม่กลัวทหาร แต่ตำรวจโอกาสทำให้รัฐบาลล้มเกิดขึ้นได้ทุกวัน ถ้าตำรวจไม่พอใจ
เพราะเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมต่างๆ และถืออาวุธ สมมติไปทำให้เกิดความไม่สงบ แค่วางระเบิด 3-4 จุด รัฐบาลก็แย่แล้ว อยู่ไม่ได้ หากทำให้เกิดขึ้นสัปดาห์ละครั้งสองครั้ง ไม่มีใครจับได้หรอก รัฐบาลก็ล้มแล้ว
ฉะนั้น ทางออกที่ดีเอาธุรกิจใต้ดินทำให้ถูกกฎหมาย ยังยากที่จะปฏิรูปสำเร็จ เพราะมีก้อนเค้กมหาศาลแห่งผลประโยชน์เป็นกันชน รศ.ดร.สังศิต บอกว่า ใช่ ตำรวจจะอ้างเหตุผลถึงศีลธรรมตลอดเวลา เพราะไปกระทบต่อเศรษฐกิจนอกกฎหมาย
รัฐบาลยุคที่มีอำนาจล้นมือทำไมปฏิรูปไม่สำเร็จ รศ.ดร.สังศิต ตอบว่า ยุครัฐบาลทหาร 2 ชุดที่ผ่านมาทำไม่คอยได้ เช่น ยุครัฐบาลขิงแก่ ต้องการปฏิรูปจริง แต่ตำรวจรวมตัวกัน สู้อำนาจตำรวจทั้งในระบบ และนอกระบบที่เกษียณไปแล้วไม่ได้ มีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ เชิงอุปถัมภ์ เชิงผลประโยชน์
สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ประนีประนอม ให้ตำรวจเป็นยกร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูป กรรมาธิการที่ตำรวจเข้ามาสู้ตายตั้งแต่มาตราแรก ยังไม่ผ่านเลย แม้ตัวประธานคณะกรรมาธิการเป็นถึง รมว.ยุติธรรม
คาดหวังอย่างไรกับรัฐบาลเศรษฐา 1 คิดว่าองค์กร สตช.ต้องวิกฤติมากกว่านี้ ขณะนี้วิกฤติแต่ยังไม่ถึงที่สุด
ต้องวิกฤติมากกว่านี้ชนิดที่ประชาชนทนไม่ไหว ออกมากดดันรัฐบาล ถ้าไม่ปฏิรูปประชาชนไม่ยอม โดยเปิดทางให้รัฐบาลเลือกระหว่างเห็นแก่ประชาชนหรือตำรวจ แบบนี้ถึงอาจเกิดการปฏิรูปได้บ้าง
“สถานการณ์ต้องวิกฤติกว่านี้ เช่น “บิ๊กโจ๊ก” (พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.) เปิดข้อมูลทั้งหมด เพราะตั้งข้อสังเกตว่าตำรวจบางส่วนที่เติบโตขึ้นมา ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทา สีดำ
โอกาสที่ตำรวจคนหนึ่งโตมาเหมือนผ้าขาว มันยาก แต่ละคนมีบาดแผลที่พร้อมจะถูกเปิดทั้งนั้น ถ้ามีใครสักคนเป็นผู้นำเปิดข้อมูลที่น่าเชื่อถือพอ
อาจเป็นแรงทำให้ประชาชนหมดความอดทน จนรัฐบาลมีความจำเป็นต้องปฏิรูปอะไรบางระดับแล้ว
แต่สุดท้ายไม่มีใครยอมเปิดใคร อยู่ร่วมกันไป แม้มีความขัดแย้ง แต่ยังไม่แตกหัก เพราะแต่ละคนมีลูกน้อง บริวาร เครือข่ายความสัมพันธ์ที่ต้องรักษาระยะยาวไว้”
ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลคุณเศรษฐาอยากปรับปรุงระบบตำรวจ ที่ท่านใช้คำว่าพัฒนาร่วมกัน ขอให้ทุ่มเทแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนก่อน เพื่อให้คะแนนนิยมสูงพอ และสถานะทางการเมืองเข้มแข็งพอ
ก่อนทำเรื่องใหญ่ทำให้องค์กรตำรวจของไทยเหมือนกับองค์กรตำรวจทั่วโลก มีขนาดเล็ก กะทัดรัด มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานได้
อาจไม่ถึงขั้นปฏิรูป แค่ทำเริ่มต้นให้ระบบดีขึ้นกว่าเดิม เช่น การบริการประชาชนสำคัญที่สุด อาจลดจำนวนตำรวจที่อยู่ประจำกองบัญชาการ และเพิ่มจำนวนตำรวจประจำสถานีตำรวจทั่วประเทศ
หรืออย่างน้อยต้องทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงบางด้าน อาจขีดเส้นภายใน 6 เดือน 1 ปี
ประเดิมควบคุมความโปร่งใสในองค์กร
ทำให้องค์กรเล็กความยุติธรรมถึงรวดเร็ว.
ทีมการเมือง
คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม