การประชุมสภาผู้แทนราษฎร “ล่ม” เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติของฝ่ายรัฐบาล เรื่องการแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ แต่มี สส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เข้าร่วมประชุมแค่ 98 คน จากทั้งหมด 500 คน สส.พรรคก้าวไกลได้ทีจึงเสนอให้นับองค์ประชุม
สภาจึงล่มอย่างไม่เป็นท่าและ ขายหน้าประชาชนทั้งประเทศ ฝ่ายรัฐบาลกล่าวหาฝ่ายค้านเล่น “เกมการเมือง” ที่เสนอให้นับองค์ประชุมทั้งที่รัฐบาลมีถึง 11 พรรค สส. 314 คน แต่เข้าประชุมแค่ 98 คน ส่วนพรรค ก.ก.ขาดประชุมแค่ 4 คน จากทั้งหมด 149 คน สะท้อนภาพชอบสู้แทนปวงชน
ถือเสียว่าเป็นผลิตผลจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถือกำเนิดมาจากคณะรัฐประหาร คสช. ที่ตั้งกลไกสืบทอดอำนาจ ด้วยการแต่งตั้ง 250 สว. เพื่อให้เลือกหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี และขณะเดียวกัน ก็ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบพิสดาร ให้เกิดพรรคถึงกว่า 70 พรรค
ผลที่ตามมาก็คือ การเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นการแข่งขันของพรรคต่างๆไม่รู้กี่สิบพรรค ผลการเลือกตั้ง พรรค ก.ก.กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” เป็นผู้ชนะ ได้ สส.รวม 292 เสียง และรวบรวม สส.อีก 6 พรรค ได้ 312 เสียง เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
พรรคฝ่ายประชาธิปไตยเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. เป็นนายกรัฐมนตรี แต่แพ้มติยับเยินในรัฐสภา เนื่องจากขาดเสียงสนับสนุนจาก สว. ผู้ชนะการเลือกตั้งกลายเป็น “ผู้แพ้” พรรคเพื่อไทยจึงต้องยอมปรับตัว สมคบคิดกับพรรค 2 ลุง คือพรรคพลังประชารัฐกับรวมไทยสร้างชาติ
ผลการเลือกตั้ง พรรค พปชร.ได้ สส. 40 เสียง พรรค รสทช.ที่ได้ สส. 36 เสียง รวมเป็น 76 เสียง ซึ่งถือว่าแพ้อย่างไม่มีทางสู้ แต่กลับกลายเป็นผู้ชนะ ด้วยการจับมือกับพรรค พท. และพรรคอื่นๆ รวม 11 พรรค ผู้แพ้กลายเป็นผู้ชนะ ส่วนผู้ชนะเป็นผู้แพ้ แต่ไม่แน่ว่าจะชนะแบบมั่นคงและยั่งยืนหรือไม่
...
แค่เริ่มประชุมเพียงไม่กี่ครั้ง สภาก็ล่มเสียแล้ว เพราะเป็นรัฐบาลผสมถึง 11 พรรค ญัตติเรื่องราคากุ้งตกตํ่า ไม่ทราบว่าเป็นของพรรคใด สภาล่มกลายเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลชุดก่อน เพราะเป็นรัฐบาลผสมเกือบ 20 พรรค บางครั้งขัดแย้งด้านนโยบายรุนแรง เช่น ปัญหากัญชาเสรี.
คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม