“นายกฯ เศรษฐา” ยัน หลังปีใหม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เหตุค่าครองชีพสูงขึ้น มอบ “ธรรมนัส” ว่าที่ รมว.เกษตรฯ ลุยแก้ปัญหาประมง ขอเชื่อมั่นการบริหารงานภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย

วันที่ 1 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่พบปะประชาชน และผู้ประกอบการการประมง ที่ท่าเทียบเรือโรงน้ำแข็งศิริไพโรจน์ จ.สมุทรสงคราม เพื่อรับฟังผลกระทบจากประกาศของ IUU และแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายไผ่ ลิกค์ ว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ด้วย

นายเศรษฐา กล่าวว่า การประมงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ในช่วงก่อนที่จะมีกฎหมาย IUU ไทยส่งออกปีละ 350,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันนำเข้าปีละ 150,000 ล้าน ซึ่งช่วงที่อยู่ในจุดที่ตกต่ำ เสียหายหลายล้านล้านบาท ทีมงานที่มาในวันนี้เป็นคนมีความสามารถ มีความรู้เรื่องการประมงมานาน จึงต้องการให้แก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ และมีการเจรจาการค้าต่างประเทศควบคู่กันไป ขอให้มั่นใจว่าวันนี้จะมีการรับฟังปัญหาอีกครั้งหนึ่ง และจะเดินหน้าเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาให้กับชาวประมงทุกคน

...

อะไรทำได้ จะค่อยๆ ทยอยทำไปก่อน

จากนั้น นายเศรษฐา รับชมการสาธิตขั้นตอนการยกปลาจากเรือ ขึ้นมาคัดแยก ตามกฎหมาย IUU จากชาวประมง ซึ่งชาวประมงระบุว่าหากทำผิดขั้นตอนก็จะถูกปรับ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการประกอบอาชีพประมง พร้อมทั้งเปิดโอกาสตัวแทนชาวประมงจาก จ.สมุทรสงคราม จ.สมุทรสาคร และ จ.สมุทรปราการ สะท้อนปัญหาปัญหาแรงงานประมง โดยเฉพาะบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ทำให้เสียเวลา เสียขั้นตอนในการดำเนินการนานถึง 5 เดือน จึงเห็นว่ากฎหมายประมงควรได้รับการแก้ไข และที่ผ่านมาชาวประมงเป็นอาชีพที่ถูกเหมารวมก็เป็นแรงงานต่างด้าว ร่วมกับกลุ่มแรงงานอุตสาหกรรม ในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจประมง 8-9 ปี เสียหายปีละ 150,000 ล้านบาท และเรือประมงไทยเป็นแพะรับบาปกลายเป็นเรือเถื่อน จากหลักการ IUU ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์เสียค่าปรับจากกฎหมายไปแล้วกว่าพันล้านบาท 

ทั้งนี้ จึงอยากเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ พิจารณาร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการประมงทั้ง 13 ฉบับ ที่ถูกตีตกในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในรัฐบาลชุดที่แล้ว ให้นำขึ้นมาพิจารณาเข้าสู่วาระที่ 1 ในการประชุมสภาฯ โดยเชื่อว่ากฎหมาย 13 ฉบับนี้ จะแก้ไขปัญหาประมงได้ภายใน 90 วัน หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดิน

ต่อมา นายเศรษฐา ระบุว่า ได้ปัญหาฟังวันนี้ ได้เห็นแววตาของชาวประมงแล้วเห็นถึงความขมขื่น ตั้งแต่รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดูเรื่องท่องเที่ยวเป็นเรื่องแรก สัปดาห์นี้มาดูเรื่องแก้ไขหนี้เกษตร และวันนี้ฟังเรื่องการประมง ขอให้ทุกคนมั่นใจว่าเรื่องนี้คือเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยจะให้ความสำคัญอย่างสูงสุด และหากธุรกิจประมงได้รับการปลดล็อก จะทำให้ One Stop Service เกิดขึ้นได้ อะไรที่อยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะทำทันที พร้อมมอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส เป็นหัวหน้า และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาพบปะพูดคุย อีกทั้งยอมรับว่าหลายอย่างอาจจะทำไม่ได้หมดในคราวเดียว จึงขอให้มีความมั่นใจในพรรคเพื่อไทย อะไรทำได้จะค่อยๆ ทยอยทำไปก่อน อย่างน้อยให้พอลืมตาอ้าปากได้

มอบ “ธรรมนัส” แก้ปัญหาประมง

นายเศรษฐา กล่าวต่อไปว่า เห็นใจชาวประมงต้องโดนปรับเป็นแสนบาท ส่วนเรือประมงขนาดใหญ่ถูกปรับเป็นล้านบาท หากยังยึดที่เอกสารเป็นหลักอยู่ รัฐบาลนี้จะจัดทำให้เป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด ให้เกิดความสะดวกสบาย โดยเฉพาะขั้นตอนการตรวจ และมอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ทำหน้าที่นี้ แต่เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจะทำคือการส่งเสริมการท่องเที่ยว และแก้ปัญหาหนี้สิน ปัญหาประมงกฎหมาย IUU 

ทั้งนี้ เชื่อว่า ร.อ.ธรรมนัส มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือ และคณะทำงานของพรรคเพื่อไทย นำโดย นายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่มีประสบการณ์ด้านนี้โดยตรง จะเข้ามาช่วยเหลือด้วยการตั้งคณะทำงานร่วมกับผู้ประกอบการมาแก้ปัญหาโดยเร็ว แต่จะทำปัญหาใหญ่ที่ทำได้ก่อน อาจจะไม่หมดเพราะต้องใช้เวลา ส่วนกฎกระทรวงทบวงกรมส่วนไหนที่ต้องเข้า ครม. จะเร่งทำทันที รวมถึงการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ส่วนข้อเรียกร้องติดวิทยุขาวบนเรือที่ไม่ใช่สาระสำคัญ จะขอให้มีการยกเลิก สำหรับกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เช่น พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว มาตรา 14 มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นวาระที่ต้องมาหารือกัน 

ทางด้านประเด็นหารือกับประเทศอินโดนีเซียเรื่องเจรจาเขตน่านน้ำ นายเศรษฐา ระบุว่า ต้องเจรจาระหว่างประเทศ เพื่อขอเปิดน่านน้ำ เพราะอินโดนีเซียมีน่านน้ำที่มีทรัพยากรมาก ส่วนไทยมีความรู้ด้านการประมง หากร่วมมือกันได้ จัดสรรผลประโยชน์ลงตัว สามารถเดินไปข้างหน้าได้ง่าย ขณะเดียวกัน ประเด็นกฎหมายลูกเกี่ยวกับประมง 13 ฉบับ ที่ตีตกไปในรัฐบาลที่แล้ว นายเศรษฐา มั่นใจว่าจะแก้กฎหมายได้ และมอบหมาย ร.อ.ธรรมนัส ดูแลในเรื่องนี้ 

“8-9 ปีที่ผ่านมา ประมงไทยได้หยุดชะงัก ติดหล่ม ไม่อยากโทษใคร แม้แต่ละปีประเทศไทยเคยส่งออกอาหารทะเล ปีละ 350,000 ล้านบาท ตอนนี้ต้องนำเข้า 150,000 ล้านบาท รวมไปกลับ 500,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านมาหลายปี สูญเสียไปเท่าไร เราต้องมาแก้ไขกันเดินหน้าดีกว่า อย่าไปมองปัญหาเก่า ไม่ว่าใคร” 

หลังปีใหม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแน่นอน

นอกจากนี้ นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงเสียงสะท้อนค่าแรงงาน ว่า ห่วงเรื่องค่าแรง ขอให้ปรับขึ้นตามเพดาน ก่อนจะย้ำว่า การขึ้นค่าแรงเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่าหากปรับขึ้นจะเป็นภาระของทุกภาคส่วน แต่มีความจำเป็น เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น ที่สำคัญคือการเน้นเพิ่มรายได้ ถ้าสามารถเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจ SME ได้ จะสามารถเพิ่มรายได้ให้ประชาชนที่มารับจ้าง ซึ่งต้องพูดคุยกัน “จะทำทันที ปีใหม่ได้เห็นแน่ แต่ต้องหารือกับพรรคร่วม พร้อมต้องให้เกียรติกัน” 

อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐา ย้ำด้วยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้จะต้องทำงานกับพรรคร่วม เพราะไม่ใช่แค่พรรคเพื่อไทย แต่เป็นพรรครัฐบาลของประชาชนที่มีหลายพรรคการเมือง เชื่อว่ารัฐมนตรีหลายคนมีความเป็นห่วงเศรษฐกิจ เพียงขอแค่โอกาสให้ทำงาน ด้าน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวถึงการลงพื้นที่กับ นายเศรษฐา ว่า ตนเองมีความมั่นใจ ปัญหาที่สะสมมานานจะได้รับการแก้ไขในเร็ววัน เชื่อว่า นโยบายที่นายกรัฐมนตรีวางไว้ จะสามารถทำได้ ตามที่นายกรัฐมนตรีย้ำว่าต้องแก้ไข.