“วิษณุ” เผย ไม่จำเป็นต้องมีรัฐมนตรีดูกฎหมายเฉพาะ เผย ตรวจสอบประวัติ ครม. แล้วไม่มีปัญหา มีแค่บางคนต้องขอหลักฐานยืนยันความชัดเจน ชี้ หากพบประวัติมีปัญหาเจ้าตัวต้องรับผิดชอบเอง

วันที่ 1 กันยายน 2566 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่จะมาดูแลงานด้านกฎหมายให้กับรัฐบาล ว่า ในอดีตไม่เคยบอกว่าจะต้องมีรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ดูฝ่ายกฎหมาย เพราะงานกระจัดกระจายกันไป เกี่ยวพันกับกระทรวงไหนกระทรวงนั้นก็ดูแลไป แต่ในส่วนของนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะช่วยดูให้ ซึ่งสมัยที่ตนเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็ไม่มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ก็ได้ใช้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็ได้ช่วยดูด้วย ข้าราชการประจำช่วยดูได้ ไม่แปลกอะไร หรือ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีก็ดูได้ เพียงแต่ระยะหลังๆ มีงานมากขึ้น 

“ระบบราชการไทย อย่างที่ใครต่อใครเรียกผมว่าเนติบริกร พูดก็พูด ก็เป็นเช่นนั้นแหละ ผมไม่ปฏิเสธ แต่งานที่ผมให้บริการคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี กลับน้อยกว่าที่ผมให้บริการกระทรวงต่างๆ หรือกรมต่างๆ งานเหล่านี้อยู่ข้างล่าง อาจจะไม่เคยเห็นกัน แต่สำหรับผม คนนั้นคนนี้ที่ต้องมาประชุมกัน กรมนั้นกรมนี้ขัดกระทรวงกัน ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ขัดแย้งกัน ดังนั้นก็ต้องมีใครมาช่วยดูในภาพรวม จึงได้เกิดรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีขึ้นมาดูแล และต่อไปในรัฐบาลหน้า ถ้าโฉมหน้าเป็นไปอย่างที่หนังสือพิมพ์ลง ผมคิดว่าจริงๆ แล้ว รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็สามารถดูกฎหมายได้”

ผู้สื่อข่าวถามต่อไป ภาพลักษณ์หรือประวัติของรัฐมนตรีจะกระทบกับการทำงานของฝ่ายข้าราชการในเรื่องความน่าเชื่อถือหรือไม่ นายวิษณุ ขอไม่วิจารณ์ ก่อนจะกล่าวต่อไปว่า งานกฎหมายของรัฐบาลอยู่ในกฤษฎีกาส่วนหนึ่ง ซึ่งในคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเป็นหัวหน้า และอยู่ในสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรับผิดชอบ และอยู่ในสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบ และอยู่ในสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่ง อัยการสูงสุดรับผิดชอบ แต่ไม่ได้อยู่ใต้อาณัติรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการประสานขอความช่วยเหลือ ถ้าเป็นกรณีปัญหากฎหมายระหว่างประเทศ กรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าของเรื่อง แบ่งกันทำอย่างนี้

...

ส่วนถามว่ามีอะไรแนะนำงานด้านกฎหมายกับรัฐมนตรีใหม่ที่จะมารับผิดชอบหรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่าไม่มี ขณะที่จากการตรวจสอบคุณสมบัติรายชื่อมีใครไม่ผ่านบ้างหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบขณะนี้ได้รับรายงานว่าไม่มี มีปัญหาเพียงว่ากำลังขอหลักฐานยืนยันมาให้ชัดเจนเท่านั้น บางอย่างหลักฐานไม่ได้มีที่เรา แต่อยู่ที่เจ้าตัวหรืออยู่ที่หน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์สำหรับการตรวจสอบในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งแบบนี้ต้องการหลักฐานยืนยัน 

“อันดับแรก รัฐมนตรีจะต้องกรอกประวัติแล้วเซ็นชื่อรับผิดชอบ มีอะไรขึ้นมาตัวเองจะต้องรับผิดชอบ จะเคยติดคุกหรือไม่เราไม่รู้หรอก แต่เบื้องต้นเขาต้องเซ็นมา พอได้มาเราจึงจะตรวจสอบกลับไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง อย่างกรณีบกพร่องทางคุณธรรมจริยธรรม มันไม่มีหน่วยงานไหนให้เช็กได้ มันเป็นนามธรรม แต่เจ้าตัวเขาเซ็นรับรองว่าข้าพเจ้าไม่ได้เป็นผู้ประพฤติบกพร่องในทางศีลธรรม อะไรอย่างนี้ก็ต้องวางใจ หลังจากนั้นมีปัญหาอะไรก็ไปถอดถอนกัน เพราะเราไม่รู้จะไปถามที่ไหน ตรงนี้ถามวัดก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ แต่อย่างอื่นสามารถเช็กกับตำรวจได้ แม้กระทั่งบางอย่างเช็กจากกรมควบคุมความประพฤติได้ว่าอยู่ระหว่างควบคุมความประพฤติหรือไม่ รอลงอาญาหรือเปล่า อย่างนี้เป็นต้น อย่างไรก็ตามเท่าที่ตรวจสอบคุณสมบัติได้รับรายงานว่าไม่มีปัญหา แต่กำลังอยากจะได้หลักฐานยืนยันที่ชัดเจนเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าถ้าตรวจสอบคุณสมบัติแล้วไปพบปัญหาในภายหลังใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ นายวิษณุ ให้คำตอบว่า เจ้าตัวจะต้องรับผิดชอบเอง และหากใครสงสัยก็ไปร้องตามช่องทางและขั้นตอนที่มี ขณะที่คำถามว่ากระบวนการจะล่าช้าออกไปอีกหรือไม่ถ้าต้องรอเอกสารตรงนี้ นายวิษณุ ระบุ “คิดว่าไม่ช้า” เมื่อถามอีกว่าจะสามารถนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในวันนี้ (1 กันยายน 2566) เลยหรือไม่ นายวิษณุ บอกว่า “ไม่ทราบ” ขณะที่สามารถเปิดเผยคนที่ต้องขอเอกสารเพิ่มเติมได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “อย่าไปเปิดเผยเลย”