เป็นเทศกาลอำลา คนเก่าไป คนใหม่มา ในรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย

โดยเฉพาะ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ทำงานวันสุดท้าย เข้ากราบไว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบฯ ร่วมวงกินข้าว อำลานักข่าว

รูดม่านปิดฉากรัฐบาลลุงๆ 3 ป. สู่รัฐบาลเพื่อไทย

งานนี้ไม่ใช่แค่ราย “ส่งไม้ต่อ” ตามวาระปกติอย่าง “บิ๊กตู่” หรืออีกรายต้องทำตามสัจวาจา “หมอชลน่าน ศรีแก้ว” ลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตามที่เคยประกาศเงื่อนไข ไม่เอา “รัฐบาล 2 ลุง”

เป็นรายการพิเศษของ “ชลน่าน เอนเตอร์เทนเมนต์” สละเก้าอี้หัวหน้าค่าย เหลือตำแหน่ง สส. และจ่อเป็นใหญ่นั่งเก้าอี้ รมว.สาธารณสุข ทำคนดูฮาสุดขำจัดกันเลย

แต่ที่พิเศษจริงๆก็ต้องราย “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ประกาศไขก๊อกจากเก้าอี้ผู้แทนฯรายล่าสุด เพื่อขอไปทำหน้าที่หัวหน้าค่ายการเมืองอย่างเดียว

...

สุขภาพทางใจเริ่มชัด หลังคิวแฝงแผนลับคว่ำ

และก็ไม่ต่างจากอาการทางใจของ “ป๊าเสรี” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ลาออกจาก สส.บัญชีรายชื่อของพรรคเสรีรวมไทย มีผลตั้งแต่ 1 ก.ย.นี้ พร้อมทิ้งทุ่นหนักคิวจัดคนใน ครม.ชุดใหม่ ที่ไม่มีโควตาให้เสรีรวมไทย ทั้งที่หนุนตั้งรัฐบาล เปรียบ “ตั้ง ครม. เหมือนแย่งชามข้าวกัน”

อาสาเป็น “นั่งร้าน” แต่ไม่ได้ “นั่งกระทรวง” ก็ต้องบ๊ายบาย ทำนอง คนที่แพ้ก็ต้องดูแลตัวเองอีกราย

และนั่นก็ไม่ใช่แนวทางของผู้จากไป แม้แต่ผู้มาใหม่ “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” ผู้นำคนใหม่ก็ต้องดูแลกายใจให้พร้อมบริหารประเทศ เพราะมีโจทย์ใหญ่ โจทย์หิน โจทย์หนัก รออยู่ข้างหน้า

หลังสอบผ่านยกแรก จัดคนเข้าสู่ตำแหน่ง ตั้ง ครม.เศรษฐา 1 ไม่ขี้เหร่ และได้เก้าอี้ตามเป้าพอสมควร ในภาวะจำกัดเงื่อนไขรัฐบาลผสม โดยเฉพาะที่ตอบสนองต่อนโยบายเพื่อไทยที่ขายไว้ เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง

แม้ต้องยอมปล่อยมือบางกระทรวง แต่กระทรวงหลักๆที่ตรงยุทธศาสตร์เศรษฐา 1 ยังต่อรองดึงกลับมาได้ ทั้งคลัง พาณิชย์ คมนาคม การท่องเที่ยว ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

รวมทั้งกระทรวงต่างประเทศ ที่ผู้นำคนใหม่ให้ความสำคัญ กับนโยบายที่ประกาศหลายครั้ง

ให้ความสำคัญกับภูมิรัฐศาสตร์ ทรงตัวในภาวะดุลมหาอำนาจโลกขยับตัวแรง และการทำเอฟทีเอ ข้อตกลงการค้ากับประเทศต่างๆ เพื่อเปิดตลาดส่งออก การค้าการลงทุน เพิ่มช่องทางรายได้ประเทศ

นอกจากนี้ ไม่แปลกที่วาระเร่งด่วนคือแก้โจทย์เศรษฐกิจปากท้อง งานแรกๆ “นายกฯเศรษฐา” ประกาศไว้ จัดคิวเดินสายตั้งแต่ยังไม่เข้าทำงานเป็นทางการ เร่งปั๊มชีพจรเศรษฐกิจ ทั้งกลไกภาคการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการที่ภูเก็ต คุยกับสายการบิน ผู้บริหารภาคธุรกิจ เจ้าสัวทุนใหญ่

และเร่งเครื่องไม่แพ้กัน คุยกับรากหญ้า ชาวบ้าน และภาคธุรกิจเอสเอ็มอี

รวมทั้งที่เป็นไฟต์บังคับ “ลดค่าครองชีพ” ที่ล่าสุด หลังเชิญทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ เจ้าของโควตากระทรวงพลังงาน มาหารือ ได้ข้อสรุปประกาศเปรี้ยงปร้าง

ประเดิม ครม.นัดแรก เตรียมลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส

แต่จะออกมารูปแบบใด จะเอาเงินจากไหนมาอุ้มมาหนุน รวมทั้งการปรับโครงสร้างพลังงาน รื้อทั้งระบบ ก็คงต้องวัดใจกันยาว

ในโจทย์ท้าทายไม่แพ้กัน คิวทวงสัญญา ทั้งการตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญ ที่เคยประกาศเป็นงานด่วน หรือการเดินนโยบายที่อาจมีปัญหาสะดุด

โดยเฉพาะพรรคต่างๆในรัฐบาล นโยบายแตกต่างหลากหลาย บางค่ายการเมืองก็สวนทางกับเพื่อไทย อาทิ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เงินเดือนปริญญาตรี เบี้ยยังชีพคนชรา ไปจนกระทั่งนโยบายร้อนๆ กัญชาเสรี

มีโอกาสเป็นชนวนขบเหลี่ยมในรัฐบาลกันได้ทุกเมื่อ

โจทย์ที่รอผู้นำเข็นให้เข้าเป้า ใช้ทุกศาสตร์และศิลป์ของอดีตผู้บริหารมืออาชีพจัดให้ลงล็อก

จูนเครื่อง ผสมผสานนโยบายสารพัดค่ายให้ลงตัว

ในวาระงานภาคการเมืองไม่เหมือนบริษัทเอกชนที่ช่ำชอง ในรัฐบาลหลากค่าย ประเภทเก๋าๆเขี้ยวลากดินรอบตัว ในจุดที่ต้องบำเพ็ญตบะเต็มที่ ท่ามกลางแรงเสียดทาน

บริหารอำนาจ บริหารความพึงพอใจของทุกฝ่าย.

ทีมข่าวการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ “วิเคราะห์การเมือง” เพิ่มเติม